ค้นหาบล็อกนี้

Translate

คุ้มค่าด้วยคุณค่า เติมสุขเสริมสุขภาพ ใช้ปรุงอาหาร หรือชงดื่มเพื่อสุขภาพ หอมชงปานะ

นวัตกรรมเครื่องปรุงครบรสเพื่อสุขภาพ ผลงานวิจัยดีเด่น ม.เกษตรฯ ผลิตจากหอมหัวใหญ่ เข้มข้น 3 เท่า ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน หัวใจ สารก่อมะเร็ง ช่วยชะลอความชรา อีกทั้งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ (อนุภาคหอมหัวใหญ่จะเกาะตัวกันตามธรรมชาติ โดยปราศจากสารเคมีป้องกันการเกาะตัว)

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพ


ผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพ
ศักดา ศรีนิเวศน์
ส่วนบริหารศัตรูพืช สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร
E-mail : agriqua30@doae.go.th
ปัจจัยที่ทำให้สารเคมีมีผลต่อสุขภาพของคน จากการศึกษาของ Dr.Helen Marphy ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิษวิทยา จากโครงการ Community IPM จาก FAO ประเทศอินโดนีเซีย พบว่าปัจจัยที่มีความเสี่ยงของสุขภาพของคนอันดับต้น ๆ คือ
1. เกษตรกรใช้สารเคมีชนิดที่องค์การ WHO จำแนกไว้ในกลุ่ม 1a และ 1b คือ ที่มีพิษร้ายแรงยิ่ง (Extremely toxic) และมีพิษร้ายแรงมาก (Very Highly toxic) ตามลำดับ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงทำให้เกิดการเจ็บป่วยแก่เกษตรกร ซึ่งใช้สารพิษ โดยเฉพาะสารทั้งสองกลุ่ม ดังกล่าว
2. การผสมสารเคมีหลายชนิดฉีดพ่นในครั้งเดียว ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้มข้นสูง เกิดการแปรสภาพโครงสร้างของสารเคมี เมื่อเกิดการเจ็บป่วยแพทย์ไม่สามารถรักษาคนไข้ได้เนื่องจากไม่มียารักษาโดยตรง ทำให้คนไข้มีโอกาสเสียชีวิตสูง
3. ความถี่ของการฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งหมายถึงจำนวนครั้งที่เกษตรกรฉีดพ่น เมื่อฉีดพ่นบ่อยโอกาสที่จะสัมผัสสารเคมีก็เป็นไปตามจำนวนครั้งที่ฉีดพ่น ทำให้ผู้ฉีดพ่นได้รับสารเคมีในปริมาณที่มากและสะสมในร่างกายและผลผลิต
4. การสัมผัสสารเคมีของร่างกายผู้ฉีดพ่น บริเวณผิวหนังเป็นพื้นที่ ๆ มากที่สุดของร่างกาย หากผู้ฉีดพ่นสารเคมีไม่มีการป้องกัน หรือเสื้อผ้าที่เปียกสารเคมี และโดยเฉพาะบริเวณที่มือและขาของผู้ฉีดพ่น ทำให้มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้เพราะสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชถูกผลิตมาให้ทำลายแมลงโดยการทะลุทะลวง หรือดูดซึมเข้าทางผิวหนังของแมลง รวมทั้งให้แมลงกินแล้วตาย ดังนั้น ผิวหนังของคนที่มีความอ่อนนุ่มกว่าผิวหนังของแมลงง่ายต่อการดูดซึมเข้าไปทางต่อมเหงื่อนอกเหนือจากการสูดละอองเข้าทางจมูกโดยตรง จึงทำให้มีความเสี่ยงอันตรายมากกว่าแมลงมากมาย
5. พฤติกรรมการเก็บสารเคมี และทำลายภาชนะบรรจุไม่ถูกต้อง ทำให้อันตรายต่อผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ และสัตว์เลี้ยง
องค์การอนามัยโลกได้จัดลำดับความรุนแรงของสารเคมีในรูปของการจัดค่า LD50 ซึ่งค่า LD50 นี้หมายถึงระดับความเป็นพิษต่อร่างกายของมนุษย์ โดยคำนวณบนฐานของการทดลองกับหนู ซึ่งจะคิดจากปริมาณของสารเคมีเป็นมิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนูเป็นกิโลกรัม ที่สามารถมีผลต่อการฆ่าหนูจำนวน 50% ของหนูทดลองทั้งหมด
ระดับความรุนแรงจากพิษของสารเคมีในแต่ละระดับ สามารถมองรายละเอียดในรูปของปริมาณของสารเคมี ซึ่งมีผลต่อการทดลองในหนูตามรายละเอียดในตารางต่อไปนี้
ระดับความรุนแรง
ค่า LD50 (มิลลิกรัม/กก. ของน้ำหนักหนูทดลอง)
รับสารพิษทางปาก
ชนิดผง
ชนิดน้ำ
1a
5 มิลลิกรัม หรือน้อยกว่า
20 มิลลิกรัม หรือน้อยกว่า
1b
5 – 50 มิลลิกรัม
20 – 200 มิลลิกรัม
II
50 – 500 มิลลิกรัม
200 – 2000 มิลลิกรัม
III
500 – 2000 มิลลิกรัม
2000 – 3000 มิลลิกรัม
IV
มากกว่า 2000 มิลลิกรัม
มากกว่า 3000 มิลลิกรัม
หมายเหตุ ข้อมูลจากโครงการนานาชาติเพื่อการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย, การจัดลำดับความรุนแรงของพิษจากสารเคมีขององค์การอนามัยโลกและแนวทางสู่การจัดลำดับความเป็นพิษ 1996 – 1997
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดลำดับความรุนแรงจากพิษสารเคมีโดยจำแนกดังนี้ไว้ดังนี้ องค์การอนามัยโลกได้จำแนกประเภทของสารเคมีตามชื่อสามัญ (Common Name) ของสารเคมีที่เข้าไปมีผลต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งการจำแนกโดยทั่วไปนั้นจะสอดคล้องกับค่า LD50 ซึ่งกล่าวถึงแล้วในตอนต้น โดยแบ่งเป็น 5 ระดับความรุนแรงดังต่อไปนี้
1a = ระดับอันตรายร้ายแรงยิ่ง
1b = ระดับอันตรายร้ายแรงมาก
II = ระดับอันตรายปานกลาง
III = ระดับอันตรายน้อย
IV = ระดับอันตรายน้อยที่สุด
สารเคมีมีหลายประเภท สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามผลที่มีต่อร่างกายของมนุษย์ดังนี้ 1. ออแกนโนฟอสเฟส (OP) มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว
2. คาร์บาเมต (C) มีผลต่อระบบประสาทในระยะสั้น
3. ออการ์โนคลอรีน (OC) มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาว
4. ไพรีทรอยต์ (PY) สร้างความระคายเคื่องต่อร่างกายภายนอก
5. ไธโอคาร์บาเมต (TC) สร้างความระคายเคืองต่อร่างกายภายนอกเช่น ตา ผิวหนัง
6. พาราควอท (P) เป็นสารกำจัดวัชพืช สร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง แต่หากเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของโลหิต ผ่านทางผิวหนังหรือบาดแผล จะส่งผลรุนแรงต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญภายในร่างกาย เช่น ตับ และไต
ออแกนโนฟอสเฟส (Organophosphates : OP) ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท เนื่องจากสารเคมีตัวนี้เมื่อเข้าไปสู่ร่างกาย จะติดเกาะอยู่กับเอนไซม์ในร่างกายที่ชื่อ ACHE-acetylcholinesterase ที่ทำหน้าที่ปิดสะพานการเชื่อมต่อระหว่างระบบประสาทกับอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เมื่อเอนไซม์ ACHE ไม่สามารถปิดสะพานเชื่อมจากระบบประสาทกับอวัยวะในร่างกายได้ ก็ทำให้เกิดการทำงานมากกว่าปกติอวัยวะเหล่านั้น เช่น กล้ามเนื้อที่ทำงานมากเกินไป ทำให้ขาสั่นตลอดเวลา หรือน้ำลาย น้ำตา หรือเหงื่อที่ออกมากผิดปกติ จากการทำงานมากเกินไปของต่อมเหล่านี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วง 30 นาทีหลังรับสารเคมีและอาจมีผลต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งในตารางต่อไปนี้จะเป็นรายละเอียดของอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากสารเคมีกลุ่มนี้
ระบบประสาทส่วนกลาง เหนื่อยง่าย เดินโซเซ
เวียนศีรษะ ชัก
ปวดศีรษะ หมดสติ
มือสั่น ช็อก
ผลต่อการทำงานมากเกินไปของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนล้า
ตะคริว
หนังตากระตุก
ผลจากการทำงานมากเกินไปของต่อมต่าง ๆ ในร่างกาย ต่อมน้ำลาย น้ำลายออกมากเกินไป
ต่อมเหงื่อ เหงื่อออกมาก
ต่อมน้ำตา น้ำตาไหลมาก
ผลจากการถูกกระตุ้นมากเกินไปใน อวัยวะส่วนอื่น ๆ ตาพร่ามัว ท้องร่วง
ปวด, เกร็ง ที่กระเพาะอาหาร แน่นหน้าอก
คลื่นไส้ หายใจขัด
อาเจียน ไอ
น้ำมูกไหล

คาร์บาเมต (Carbamates : C)
มีผลกระทบทำนองเดียวกับออร์แกนโนฟอสเฟต คือ หยุดการทำงานของเอนไซม์ ACHE-acetylcholinesterase และทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป อาการเกิดขึ้นเร็วกว่า (ตั้งแต่ 15 นาที หลังรับสารเคมี) แต่ก็ต่อเนื่องอยู่ราว ๆ 3 ชั่วโมง อาการโดยทั่ว ๆ ไปก็เหมือนกันแต่อาจพบอาหารต่อไปนี้น้อยกว่า
- เกร็ง, ชัก
- หมดสติ
- ช็อก

ออแกนโนคลอรีน (Organochiorines : OC) มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยที่เซลล์ไขมันในร่างกายจะดูดซับสารเคมีชนิดนี้ไว้ ทำให้การตกค้างในร่างกายอยู่ในระยะยาวกว่า และที่สำคัญจะมีผลต่อความเป็นพิษในน้ำนมของผู้ที่เป็นแม่ ผลเกิดขึ้นตั้งแต่ 1 ชั่วโมง หลังรับสารเคมีและอาจต่อเนื่องถึง 48 ชั่วโมง สารในกลุ่มนี้บางตัว เช่น เอ็นโดรซัลเฟน สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและรวดเร็ว โดยผ่านทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม เซลล์ประสาทที่กระตุ้นการทำงานของต่อมต่าง ๆ ไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นเราจึงไม่พบอาการบางอย่างต่อไปนี้
- น้ำลายไหลมาก
- น้ำตาไหลมาก
- เหงื่อออกมาก
- หนังตากระตุก แต่อาการต่อไปนี้สามารถพบได้ เพราะเป็นผลมาจากผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง
- กล้ามเนื้ออ่อนล้า
- เกร็งชัก
- เวียนศีรษะ
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- มือสั่น
- มือขาชา
- เดินโซเซ
- คลื่นไส้
- หงุดหงิด / กระวนกระวาย
- หมดสติ มีการศึกษาพบว่า สารเคมีกลุ่มนี้จะสะสมอยู่ในบริเวณที่เป็นไขมันของร่างกายเป็นสารก่อมะเร็ง มีผลต่อต่อมต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดการสับสนทางเพศในหญิงมีครรภ์ ลูกที่เกิดอาจมีความผิดปกติทางเพศหรือเบี่ยงเบนเพศได้
ไพรีธรอยด์ (Pyrethrioids : PY) สร้างความระคายเคืองต่อตา ผิวหนังและทางเดินหายใจ อาการมีผลอยู่ระหว่าง 1 – 2 ชั่วโมง ซึ่งจะปรากฎอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
รับสารเคมีในภาวะปกติ - ชา - เจ็บคอ
- หายใจถี่ - แสบจมูก
- คอแห้ง - คัน
หากเข้าสู่ระบบการย่อยอาหาร - หมดสติ / ช็อก - เกร็ง, ชัก
หากรับสารในปริมาณสูง - อาเจียน - หนังตากระตุก
- ท้องร่วง - เดินโซเซ
- น้ำลายไหลผิดปกติ - หงุดหงิด

ไธโอคาร์บาเมต (Thiocarbamates : TC) ส่งผลลักษณะเดียวกันกับไพรีธรอยด์ กล่าวคือ สร้างความระคายเคืองต่อผิวหนังตา และระบบการหายใจ ซึ่งอาการจะปรากฎทันที เมื่อรับสารเคมี
ระบบการหายใจ - คอแห้ง แสบจมูก
เจ็บคอ ไอ
ตา เคืองตา ตาแดง
ผิวหนัง คัน ผิวหนังตกสะเก็ด
ตุ่มขาวบนผิวหนัง ผื่นแดง
พาราควอท (Paraquat : P)
เป็นพิษอย่างมากต่อผิวหนังและเยื่อบุ (Mucous Membranes) ซึ่งอยู่ในปาก จมูกและตา อย่างไรก็ตาม โมเลกุลของพาราควอทมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะซึมเข้าร่างกายทางผิวหนัง แต่หากร่างกายมีบาดแผล พาราควอทจะเข้าสู่ร่างกายทางเส้นเลือดและส่งผลอย่างรุนแรงต่อการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ปอด ไต ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายโดยตรงทางปาก ทำให้เกิดอาการวายของอวัยวะสำคัญ เช่น ไต ปอด ได้ พบว่าเกษตรกรบางรายเล็บเท้ามือหลุด เนื่องจากการสัมผัสกับสารพาราควอทโดยตรง ห้ามทำให้ผู้รับสารพาราควอทอาเจียนเด็ดขาด
ผิวหนัง - แห้ง, แตก พุพอง
ผื่นแดง แผลมีหนอง
เล็บ เล็บซีด เล็บหลุด
หักง่าย
ระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ
เลือดกำเดาไหล
ตา เยื่อบุตาอักเสบ (ระคายเคือง)
ตาบอด
ระบบทางเดินอาหาร ตับวาย
หยุดการหายใจ
ไตวาย
อาการที่เกิดจากพิษสารเคมีและวิธีการตรวจสอบ
อาการที่เกิดจากสารเคมีแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ อาการที่สังเกตเห็นได้จากภายนอก (signs) และอาการที่ผู้รับสารเคมีรู้สึกจากภายใน (symptoms) ซึ่งเรามองไม่เห็นและการรับทราบอาการก็จะมาจากการสอบถามพูดคุย
อาการที่สังเกตเห็นได้ (Signs) มีวิธีการที่ตรวจสอบดังต่อไปนี้
อาการ
วิธีการสังเกตหรือตรวจสอบ
สั่น มือหรือนิ้วสั่นเมื่อยืนแขนออกมาข้างหน้าพร้อมกางนิ้วออกและวางกระดาษบนมือผู้ที่ถูกตรวจสอบ
หนังตากระตุก ให้ผู้ถูกตรวจสอบนอนหลับตาในลักษณะผ่อนคลาย มองการกระตุก ที่เปลือกตาด้านบนที่จะกระตุกในลักษณะซ้าย ขวา ไม่ใช่ขึ้นลง
เหงื่อออกมากเกินไป มองดูที่หน้าผากและเหนือริมฝีปากบน
ตาแดง ตาขาวทั้ง 2 ข้างจะมีสีแดง
น้ำมูกไหล สังเกตว่าเกษตรกรเช็ดจมูกบ่อยหรือไม่ ซึ่งจะแตกต่างจากการเป็นหวัด เพราะน้ำมูกจะใส หากเป็นหวัดน้ำมูกจะมีสีเหลืองหรือเขียว
ไอ ฟังดูว่าไอบ่อยหรือไม่
หายใจขัด ผู้รับสารเคมีจะหายใจเหมือนมีเสียงนกหวีดในหลอดลม
เดินโซเซ ให้เกษตรกรยืนกางแขน เดินต่อส้นเท้าเป็นเส้นตรง ลักษณะเดียวกันกับการเดินของคนเมา
ท้องร่วง อุจจาระเป็นน้ำมาก
ผิวหนังผื่นแดง ถามว่ามีผื่นแดงที่ใดบ้าง หรือสังเกตที่มือ แขน ขาและเท้า
ตุ้ม/ผื่นขาว สังเกตมือ แขน ขา และเท้า
ผิวหนังตกสะเก็ด
หมดสติ ช็อก เกษตรกรเป็นลมล้มพับลงกับพื้น ปลุกอย่างไรก็ไม่ฟื้นขึ้นมา
ชัก, เกร็ง กล้ามเนื้อทุกส่วนบีบรัดแน่น เหมือนเด็กที่บางครั้งเกิดจากการมีไข้สูง ตาเหลือก กัดฟันแน่น
อาเจียน สิ่งที่ (เพิ่ง) รับประทานเข้าไปกลับออกมากทางเดิมจนหมดสิ้น

อาการที่ไม่สามารถมองเห็น (Symptoms) มีแนวทางในการสอบถามดังต่อไปนี้
อาการ
วิธีการสังเกตหรือตรวจสอบ
คอแห้ง รู้สึกเหมือนตอนที่ตื่นนอนตอนเช้า หากคืนนั้นนอนอ้าปากทิ้งไว้ทั้งคืน
เหนื่อย รู้สึกเหมือนตอนที่ปีนภูเขาหรือต้นไม้สูง ๆ กลับลงมา แขนขาอ่อนล้า ไปหมด
เจ็บหน้าอก รู้สึกคล้ายกับการหายใจเอากลิ่นพริกหรือควันเข้าไปเต็มหลอดลม
คันตา ความรู้สึกเหมือนมีผงละอองเล็ก ๆ เข้าตา
ตาพร่ามัว เหมือนกับการดูหนังหรือรูปถ่ายที่ไม่ได้จุดโฟกัสที่ถูกต้อง
หายใจถี่ สังเกตดูว่าเกษตรกรหายใจเร็วหรือภาวะที่คล้าย ๆ กับการขาดอากาศ หายใจหรือไม่
เวียนหัว ความรู้สึกเหมือนการหมุนตัวหลาย ๆ รอบ
คลื่นไส้ ความรู้สึกเดียวกับช่วงเวลาก่อนเราจะอาเจียน หรือการขับรถบนถนน ร้อยโค้ง หรือนั่งเรือในขณะที่คลื่นไม่เป็นใจ
น้ำลายไหล สังเกตดูว่าเกษตรกรบ้วนน้ำลายบ่อยหรือไม่ หรือถามว่ามีน้ำลายมาก เหมือนตอนที่รับประทานของเปรี้ยว ๆ หรือไม่
เจ็บคอ เจ็บเวลากลืนอาหาร
แสบจมูก ความรู้สึกเหมือนอยู่ในห้องครัวที่กำลังมีคนคั่วพริก คั่วกระเทียมอยู่
ตะคริว ความรู้สึกคล้ายหลังจากเล่นฟุตบอลทั้งวัน กล้ามเนื้อขาเกร็ง แน่นและเจ็บ
ปวดศีรษะ รู้สึกเจ็บแปลบในศีรษะ
ปวด/เกร็งในท้อง ความรู้สึกปวดก่อนได้เวลาเข้าห้องน้ำ หรือก่อนท้องร่วง
คัน ความรู้สึกเหมือนถูกยุงกัด

อาการอื่น ๆ ที่อาจมีลักษณะคล้ายกับการได้รับสารเคมี ความเจ็บป่วยอื่น ๆ ก็มีผลต่ออาการในลักษณะเดียวกับการรับสารเคมี ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลจำเป็นที่ควรจะได้มีการตรวจสอบข้อมูลทั้งก่อนและหลังการฉีดสารเคมี เพื่อจะได้มองการเชื่อมโยงที่ถูกต้อง ว่าเป็นเรื่องมาจากสารเคมีหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งหากพบว่าอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นหลังจากการฉีดยาเท่านั้น ก็อาจจะวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าเป็นผลมาจากสารเคมี ตารางต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงอาการที่มาจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งอาจพบได้ในช่วงก่อนฉีดยา
อาการ
วิธีการสังเกตหรือตรวจสอบ
เหนื่อยล้า นอนไม่พอ
เดินโซเซ ดื่มมากเกินไป
หมดสติ/ช็อก -
เกร็ง, ชัก -
เวียนหัว เป็นไข้หวัด, โรคโลหิตจาง. โรคจากระบบของหัวใจ
ปวดหัว ไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก, ดื่มเกินพิกัด
เหงื่อออกมาก ไข้, สวมใส่เสื้อผ้าหลายชิ้นเกินไป
ตาพร่ามัว โรคตาเรื้อรัง (ต้อกระจก)
ปวดตา/คันตา อาการแพ้
ตาแดง ติดเชื้อ
หนังตากระตุก
น้ำลายไหล -
น้ำมูกไหล -
แสบจมูก -
คอแห้ง หิว, ภาวะการขาดน้ำในร่างกาย
เจ็บคอ ไข้หวัดใหญ่, คออักเสบ
เจ็บหน้าอก ภาวะหัวใจไม่ปกติ (ระหว่างการออกกำลังกาย)
หายใจถี่ สูบบุหรี่มากเกินไป, ภาวะการทำงานของหัวใจ
หายใจขัด สูบบุหรี่มากเกินไป, แพ้
ไอ สูบบุหรี่มากเกินไป, ไข้หวัดใหญ่
คลื่นไส้ อาหารเป็นพิษ, ไข้หวัดใหญ่, ดื่มสุรามากเกินไป
ปวดท้อง อาหารเป็นพิษ, ไข้หวัดใหญ่
ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ, ไข้หวัดใหญ่
อาเจียน อาหารเป็นพิษ, ไข้หวัดใหญ่
ผื่นแดง โรคผิวหนังอื่น ๆ
ตุ่มขาว โรคผิวหนังอื่น ๆ
ผิวตกสะเก็ด โรคผิวหนังอื่น ๆ
ชา -
คันผิวหนัง หิด, กลาก, เกลื้อน
ตะคริว -
กล้ามเนื้ออ่อนล้า -
สั่น ดื่มสุรามากเกินไป
การตรวจสอบสารพิษในร่างกาย
ผู้ที่ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ผู้ผสมสารเคมีหรือผู้ที่สัมผัสสารเคมีโดยตรงสามารถใช้รูปภาพเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบสารเคมีในร่างกายด้วยตนเอง วิธีนี้เป็นวิธีที่คิดและจัดทำโดย Dr. Helen Murphy ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ละชนิด ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศโดยละเอียดสำหรับใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจที่จะจัดการกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้
วิธีการปฏิบัติ ก่อนที่จะสัมผัสกับสารเคมีจะด้วยการฉีดพ่นหรือการผสมสารเคมีให้ตรวจสอบอาการจากรูปและดูรายละเอียดของอาการที่กล่าวมาข้างต้นและทำเครื่องหมาย (+) กรณีที่มีอาการ ทำเครื่องหมายลบ (-) กรณีที่ไม่มีอาการ หลังจากการฉีดพ่นหรือสัมผัสสารเคมีแล้วประมาณ 30 นาที ให้ดำเนินการตรวจสอบอีกครั้งหากพบอาการให้ทำเครื่องหมาย (+) ไม่พบอาการทำเครื่องหมายลบ (-) และทำการทดสอบอีกครั้งเหมือนเช่นเดิมภายหลัง 24 ชั่วโมงต้องทำทุกครั้งที่พ่นสารเคมีตลอดฤดูกาล เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ การวิเคราะห์ผลที่ได้ดูได้จากตารางนี้
ตารางเปรียบเทียบอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
ก่อนฉีดพ่น
หรือสัมผัส
หลังฉีดพ่นหรือสัมผัส
30 นาที - 1 ชม.
ภายหลังฉีดพ่นหรือสัมผัส24 ชม.
อาการที่เกี่ยวข้องจากการใช้สารเคมี
+
+
+
ไม่มีอาการหรือมีอาการเรื้อรัง
+
+
0
ไม่มีอาการ
+
0
+
อาจใช่หรือมีปัญหาจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ
+
0
0
ไม่มีอาการ
0
0
0
ไม่มีอาการ
0
0
+
ใช่ และมีอาการเรื้อรัง
0
+
0
ใช่และมีอาการระยะสั้น
0
+
+
ใช่และมีอาการเรื้อรัง
ที่มา Dr. Helen Murphy-FAO
เกษตรกรผู้ฉีดพ่น หรือสัมผัสสารเคมีเมื่อมีอาการแสดงความรุนแรงออกมาไม่ว่าจะระดับ 1,2 หรือ 3 ดังภาพข้างบน ควรหยุดการฉีดพ่นหรือสัมผัสสารเคมีทันทีอย่างน้อยที่สุดประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะความรุนแรงระดับ 3 ควรห่างไกล หรือหยุดการสัมผัสสารเคมีโดยทันทีเพราะท่านอาจเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้
อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบด้วยตัวท่านเอง แล้วยังไม่แน่ใจการไปพบแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านสารเคมีโดยตรงจะเป็นวิธีทีดีที่สุดสิ่งสำคัญที่ควรพึงระลึกไว้เสมอคือ
1. เมื่อผู้ฉีดพ่นสารเคมีหรือสัมผัสสารเคมีมีอาการรุนแรงหรือหมดสติ ให้รีบนำออกจากบริเวณที่ทำงาน ทำความสะอาดร่างกายเปลี่ยนเสื้อผ้าและนำส่งแพทย์ทันที
2. นำภาชนะบรรจุสารเคมีไปด้วยเพื่อแพทย์จะได้ดูวิธีหรือยาที่ใช้แก้อาการที่มีอยู่ในฉลากข้างภาชนะบรรจุสารเคมีนั้น
3. หากเกษตรกรผสมสารเคมีหลายชนิดรวมกัน ควรนำคนไข้พบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านนี้เท่านั้น เพราะการแก้ปัญหาต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะด้านสูง
4. ความเชื้อผิด ๆ ที่ดื่มน้ำโซดาน้ำหวาน หรือดื่มสุราภายหลังการฉีดพ่นสารเคมี การทำให้ตัวเปียกน้ำก่อนฉีดพ่นสารเคมีเป็นอันตรายต่อท่านอย่างสูงท่านอาจรู้สึกดีขึ้นมาชั่วระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านจะปลอดภัยจากสารเคมีที่สัมผัส ตรงกันข้ามในระยะยาวสุขภาพของท่านจะทรุดโทรมและหมดสภาพในที่สุด
5. ต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและซักเสื้อผ้าที่ใส่ทันทีภายหลังฉีดพ่นหรือสัมผัสสารเคมี
6. การผสมสารเคมีหลายชนิดพร้อมกัน เป็นการประหยัดต้นทุนแต่ไม่ประหยัดชีวิตและสุขภาพของท่านผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
7. ต้องมีชุดป้องกันสารเคมีขณะฉีดพ่นหรือผสมสารเคมี และที่สำคัญที่สุดการใช้สารเคมี หรือผสมสารเคมีไม่ควรทำคนเดียว และต้องเตรียมน้ำสะอาดไว้ใกล้ ๆ ตัวด้วย เคยมีกรณีสารเคมีกระเด็นเข้าตาแล้ว ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยตัวเองได้และไม่มีน้ำสะอาดชำระล้าง อันตรายมากถึงกับตาบอด
8. วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือ งดใช้ หากจำเป็นจริง ๆ ก็ขอให้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย ใช้เท่าที่จำเป็นและใช้อย่างถูกต้อง แล้วหันกลับมาใช้วิธีธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากพิษ ศัตรูทางธรรมชาติ ตัวห้ำตัวเบียน ตลอดจนเชื้อจุลินทรีย์ สารสกัดชีวภาพแทน เพราะการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ปลอดภัยกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม นั้น มีทางเดียวที่ปลอดภัยก็คือการไม่ใช้เท่านั้น!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น