ค้นหาบล็อกนี้

Translate

คุ้มค่าด้วยคุณค่า เติมสุขเสริมสุขภาพ ใช้ปรุงอาหาร หรือชงดื่มเพื่อสุขภาพ หอมชงปานะ

นวัตกรรมเครื่องปรุงครบรสเพื่อสุขภาพ ผลงานวิจัยดีเด่น ม.เกษตรฯ ผลิตจากหอมหัวใหญ่ เข้มข้น 3 เท่า ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน หัวใจ สารก่อมะเร็ง ช่วยชะลอความชรา อีกทั้งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ (อนุภาคหอมหัวใหญ่จะเกาะตัวกันตามธรรมชาติ โดยปราศจากสารเคมีป้องกันการเกาะตัว)

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตปัญหาโรคไต "โรคไต: เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน”

วันไตโลก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม ทุกปี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข #เผยคนไทยกินอาหารเค็มสูงเกินปริมาณกำหนด ถึง 2 เท่า หวั่นส่งผล กระทบต่อสุขภาพและเสี่ยงโรคไตวาย ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 7,800ราย แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดกินเค็มในอาหาร สำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป หวังเลี่ยงร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป



         วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2557) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังวิกฤตปัญหาโรคไต "โรคไต: เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน” วันไตโลก และสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ว่า จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเพียงปีละ 400 รายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดคือขาดแคลนผู้บริจาคไต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง โดยในปี 2555 ใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตจากไตวาย 13,536 คน ประมาณ 1 ใน 3 ตายก่อนวัยอันควร อายุน้อยกว่า 60 ปี จากการรายงานของสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ พบผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวน 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน ซึ่งโรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง


        ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การกินอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำ คือ บริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสเค็ม ได้แก่ เกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ผงชูรส และผงปรุงรสต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปนิยมอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารนอกบ้านที่ปรุงโดยคำนึงถึงแต่รสชาติแต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค จากการสำรวจปริมาณอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทย โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี 2551 สถานการณ์การบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงพบว่า #มีการบริโภคโซเดียมคลอไรด์สูงเกินปริมาณแนะนำถึง2เท่า (โซเดียม 4,351 มิลลิกรัม) หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 10.8 กรัมต่อวันทำให้หลายประเทศเริ่มมีการรณรงค์ให้มีการลดการกินเค็มขึ้น

     

 "ทั้งนี้ เนื่องด้วยในวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2ของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น "วันไตโลก” (World Kidney Day) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2557 มีการจัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์วันไตโลก ภายใต้หัวข้อ "โรคไต : เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน”นอกจากนี้ กรมอนามัยยังจัดให้มีการรณรงค์ "สัปดาห์ลดการกินเค็ม” (Low salt week) พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 10-16 มีนาคม 2557 โดยขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลของศูนย์อนามัย จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนตลอดสัปดาห์ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดการกินเค็ม” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


ที่มา : http://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=6228


#คนไทยป่วยไตเรื้อรัง8ล.พบเด็กป่วยมากขึ้น อึ้ง! 1 ใน 3 ตายเพราะรอเปลี่ยนไตไม่ไหว

 คนไทยป่วยไตเรื้อรังถึง 8 ล้านคน รอเปลี่ยนไตกว่า 40,000 คน พบ 1 ใน 3 รอไม่ไหวจนเสียชีวิต แถมเด็กป่วยมากขึ้น กรมอนามัยพร้อมเครือข่ายต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมวันไตโลกและสัปดาห์ลดบริโภคเค็ม หวังกระตุ้นประชาชนตระหนักการลดเค็ม ช่วยสุขภาพดี
คนไทยป่วยไตเรื้อรัง 8 ล.พบเด็กป่วยมากขึ้น อึ้ง! 1 ใน 3 ตายเพราะรอเปลี่ยนไตไม่ไหว
       วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ นพ.พรเทพ ศิริรวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวแถลงข่าวการจัดงานกิจกรรมวันไตโลกและสัปดาห์วันไตโลก 2557 ว่า จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน หรือร้อยละ 17.6 ของประชากร จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน มีการป่วยเพิ่มปีละ 7,800 คน รอการผ่าตัดเปลี่ยนไต 40,000 คน แต่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไตเพียง 400 คนเท่านั้น ที่น่าตกใจคือ 1 ใน 3 ของคนที่รอการเปลี่ยนไตต้องเสียชีวิตลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยไต 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อคน เพราะต้องได้รับการฟอกไตด้วยวิธีฟอกเลือด หรือล้างไตผ่านหน้าท้อง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้แต่ละปีต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาท โดยปัจจุบันภาครัฐให้สิทธิประชาชนทุกคนในการฟอกไตผ่านช่องท้องฟรี นอกจากนี้ เมื่อป่วยยังทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง เสี่ยงการติดเชื้อแทรกซ้อน และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติด้วย
       
       #สาเหตุของโรคไตเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง โดยปัจจุบันประชาชนบริโภคโซเดียมสูงกว่าที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า เนื่องจากลักษณะการกินของคนไทยชอบกินอาหารรสจัด ชอบเติมเครื่องปรุงเพิ่ม ทั้งที่อาหารที่ซื้อกินทั่วไปมีการเติมเครื่องปรุงและผงชูรสลงไปอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้ได้รับโซเดียมเพิ่ม นอกจากนี้ การเกิดโรคไตมักเกิดจากโรคเบาหวานและความดัน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและไม่ออกกำลังกายเช่นกัน เมื่อป่วยเป็นความดันและเบาหวาน ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว ตีบตัน เส้นเลือดฝอยในไตหมดสภาพและตาย ทำให้เกิดโรคไต อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
       
       นพ.พรเทพ กล่าวว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ กรมอนามัยจะเน้นเรื่องการลดบริโภคเค็ม จะช่วยให้ความดันลดลง โดยจะจัดสัปดาห์ลดการบริโภคเค็มระหว่างวันที่ 10-16 มี.ค.ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโรคไตและปัจจัยหลักที่คนไทยบริโภครสเค็มมากเกินไป ทำให้เป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาและเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและเสียชีวิตในที่สุด
       
       น.อ.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ หากไม่มีการปรับพฤติกรรมดูแลตัวเองโรคไตก็จะไม่มีวันลดลง สมาคมฯจึงเตรียมจัดกิจกรรมวันไตโลกขึ้นในวันที่ 9 มี.ค.ที่แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี ซึ่งสมาคมโรคไตในต่างประเทศต่างก็จัดขึ้นพร้อมกันเช่นกัน โดยมีสโลแกนว่า โรคไตเสี่ยงทุกวัยเป็นได้ทุกคน โดยบนเวทีจะมีการให้ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากผู้ป่วยโรคไต มีการสาธิตการทำอาหาร เมนูอร่อยดีต่อสุขภาพไต และการทำเมนูจืดๆอย่างไรจึงจะอร่อย นอกจากนี้ จะได้รับการตรวจร่างกายสุขภาพไตด้วย
       
       ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม คือเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไตเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การป้องกันการดูแลตนเองก่อนมีอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัญหาสำคัญคืออาหาร โดยเฉพาะอาหารเค็ม ซึ่งมีรสชาติดี แต่เมื่อกินเค็มมากเกินไปก็เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ รุนแรงขึ้น ถ้าบุคลากรทุกฝ่ายร่วมกันในเชิงป้องกัน โน้มน้าวให้เห็นถึงความตระหนัก ให้ประชาชนกินอาหารเหมาะสมต่อสุขภาพเป็นเรื่องดี ราชวิทยาลัยฯจึงสนับสนุนทั้ง 2 กิจกรรม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักของการกินอาหารลดเค็มที่เหมาะสม ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง #ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ21.4 หรือ 11.5 ล้านคน โรคไต ร้อยละ 17.5 หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 1.4 หรือ 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ร้อยละ 1.1 หรือ 0.5 ล้านคน
       
       รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้ไลฟ์สไตล์ของคนไทยเปลี่ยนไปมาก การเจ็บป่วยก็เปลี่ยนไป สสส.จึงเน้นทำ #เรื่องโรคที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะการลดบริโภคอาหารรสจัดทั้งหวาน มัน เค็ม โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือเด็กวัยเรียน 6-14 ปี เน้นทำเรื่องศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ อาหารเหมาะสม อ่อนหวานมันเค็ม และกลุ่มวัยทำงาน ส่งเสริมให้มีองค์กรต้นแบบคือองค์กรไร้พุง ซึ่งกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลก และลดบริโภคเค็มก็จะนำเครือข่ายต่างๆ มาช่วยจุดประกายให้สนใจอาหารใกล้ตัวมากขึ้น
       
       ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทั้งไทยและต่างประเทศคล้ายกันคือ #ประชาชนบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการโดยชาวตะวันตกมักได้รับโซเดียมจากอาหารแช่แข็งส่วนแถบเอเชียมักได้รับจากเครื่องปรุงต่างๆ ​โดยคนไทยได้รับจากการกินอาหารแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสซึ่งนิยมใช้มาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960-1,420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม เป็นต้น
       
       #ยังพบว่าคนไทยนิยมกินอาหารถุงปรุงสำเร็จซึ่งมีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุง815-3,527มิลลิกรัม อาทิ ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง เป็นต้น ส่วนอาหารจานเดียว ที่มีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งจาน อาทิ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ เป็นต้น ปัจจุบันผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง รวมถึงพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตในเด็ก เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มักจะต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง จนเป็นสาเหตุในเรื่องของภาวะไตวายเรื้อรัง ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวและว่า การลดเค็มต้องเริ่มจากการลดทีละน้อย จะค่อยๆ ช่วยเปลี่ยนการรับรสของลิ้น อย่าลดเค็มทีละมากๆ เพราะจะทำให้รู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย
ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/viewnews.aspx?NewsID=9570000022641

วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะผู้ที่มีสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ที่ดี

            สุขภาพกาย หมายถึง สภาวะของร่างกายที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง เจริญเติบโตอย่างปกติ ระบบต่างๆของร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติ และมีประสิทธิภาพ ร่างกายมีความต้านทานโรคได้ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และความทุพพลภาพ ดังนั้น ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพกายที่ดี มีดังนี้
·         มีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายที่สมวัย มีน้ำหนัก และส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์อายุ
·         มีขนาดร่างกายสมส่วน คือ มีน้ำหนัก และส่วนสูงที่ได้สัดส่วนกัน
·         กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีความแข็งแรง ลุก นั่งได้หลายครั้ง ดึงข้อได้หลายครั้ง
·         มีความอดทนของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิตที่ดี 
·         มีความอ่อนตัวที่ดี
·         มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว
·         มีความอยากรับประทานอาหาร และอยากรับประทานมากๆ ไม่เบื่ออาหาร
·         มีร่างกายแข็งแรง
·         มีภูมิต้านทานโรคดี และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่พิการ หรือผิดปกติอื่นๆ
·         พักผ่อนนอนได้เป็นปกติ
            สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะของจิตใจที่มีความสดชื่น แจ่มใส สามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงเป็นปกติ สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดี สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี และปราศจากความขัดแย้ง หรือความสับสน ภายในจิตใจ ดังนั้น ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี มีดังนี้
·         ไม่เป็นโรคจิต โรคประสาท
·         สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคม และสิ่งแวดล้อมได้
·         มีสัมพันธ์ภาพที่ดีกับบุคคลอื่นๆ
·         มีชีวิตมั่นคง ไม่จัดแย้ง เมื่อที่ใดก็มีความสุข ความสบายใจ
·         ยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเอง  เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
·         ยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง  ให้อภัยข้อบกพร่องข้อคนอื่น
·         มีความรับผิดชอบ
·         มีความพึงพอใจกับงาน และผลงานของตนเอง พอใจที่จะเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
·         แก้ไขความไม่สบายใจ ความคับข้องใจ และความเครียดของตนเองได้
·         รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่หวาดระแวงผู้อื่นเกินควร
·         มีอารมณ์มั่นคง เป็นคนอารมณ์ดี มีอารมณ์ขันบ้าง
·         มีความเชื่อมั่นในตนเอง
·         สามารถควบคุมความต้องการของตนเองในความเป็นแนวทางที่สังคมยอมรับ
·         แสดงออกด้วยความรู้สึกสบายๆ
·         อยู่ในโลกความเป็นจริง สามารถเผชิญกับความจริงได้

 

สุขภาพกาย และสุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต การที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติได้ ต้องทำให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ จิตใจมีความสุข ความพอใจ ความสมหวังทั้งตนเอง และผู้อื่น ผู้ที่มีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี จะปฏิบัติหน้าที่ได้ดี และมีประสิทธิภาพ การที่เรารู้สึกว่า สุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเรา มีความปกติ และสมบูรณ์ดี เราก็จะมีความสุข แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเราผิดปกติ หรือไม่สมบูรณ์ เราก็จะมีความทุกข์ การรู้จักบำรุงรักษา และส่งเสริมสุขภาพกาย และสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของทุกคน ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า การรู้จักดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิตนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขสมบูรณ์ และมีคุณภาพนั่นเอง..

           

ขอบคุณ   คุณครู กัลยารัตน์ เมธีวีรวงศ์ และ นางสาว สุวิมล เตชะวีรพงศ์ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร

ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/44385