ค้นหาบล็อกนี้

Translate

คุ้มค่าด้วยคุณค่า เติมสุขเสริมสุขภาพ ใช้ปรุงอาหาร หรือชงดื่มเพื่อสุขภาพ หอมชงปานะ

นวัตกรรมเครื่องปรุงครบรสเพื่อสุขภาพ ผลงานวิจัยดีเด่น ม.เกษตรฯ ผลิตจากหอมหัวใหญ่ เข้มข้น 3 เท่า ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน หัวใจ สารก่อมะเร็ง ช่วยชะลอความชรา อีกทั้งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ (อนุภาคหอมหัวใหญ่จะเกาะตัวกันตามธรรมชาติ โดยปราศจากสารเคมีป้องกันการเกาะตัว)

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ดื่มชา (ไม่)ดีต่อสุขภาพอย่างไร ?



เครื่องดื่มยอดฮิตของคนรักสุขภาพในเมืองไทยในระยะ ๓ – ๔ ปีมานี้ ดูแล้วยังไม่มีใครแซง “เครื่องดื่มชา” ทั้งชาเขียว ชาดำ ชาแดง ชาขาว ชานานาชนิด และยังมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายรูปแบบใบชาแห้งชงน้ำแบบดั้งเดิม ชาผงอินสแตนท์ ชาขวดพร้อมดื่ม ชาบรรจุกล่องเหมือนนม UHT รู้หรือไม่ว่าธุรกิจชาพร้อมดื่มมูลค่าปีละนับหมื่นล้านบาท !
เหตุที่ยิ่งขายยิ่งมีคนหันมาดื่มมากขึ้นเพราะกระแสสรรพคุณของใบชานี่เอง ทั้งๆที่มีข้อมูลเรื่องประโยชน์จากชามานานกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว แต่ไม่เร้าใจเท่าระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อผลการศึกษาพบว่า ชามีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นหรือต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็งหรือลดความเสี่ยงของมะเร็ง ยังมีสรรพคุณที่คนสมัยนี้ชอบมากคือ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ยังลดการอักเสบ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปากช่วยให้ปากสะอาดไร้กลิ่น
สรรพคุณโดนใจขนาดนี้ เป็นที่หมายปองของคนประเภทกินไม่ยั้ง กินไม่เหมาะสม และยังไม่ชอบออกกำลังกาย คนกลุ่มนี้มักหาอะไรก็ได้กินดื่มหลังอาหารรวดเดียวเพื่อเป็นยาแก้ได้สารพัดนึก ทำให้เครื่องดื่มชาจึงเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วนั่นเอง และเพราะการดื่มชาไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในวัฒนธรรมของชาวเอเชีย คนไทยจึงรับการดื่มชาได้ง่าย
ในใบชามีสารประกอบหลายชนิด ที่พูดถึงกับมาก คือ สารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) และที่อ้างอิงบ่อยๆ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มนี้ ชื่อว่า สาร epigallocatechin-3-gallate (EGCG) และสาร epicatechin 3-gallate (EGC) ที่พบส่วนใหญ่ในชาเขียว และสาร theaflavin-3,3 –digallate จะพบมากในชาดำ สารเหล่านี้มีคุณสมบัติหลักทำหน้าที่ต้านออกซิเดชั่น จึงลดความเสี่ยงหรือลดความรุนแรงของโรค มีงานวิจัยอธิบายว่า สารต้านออกซิเดชั่นช่วยยับยั้งขบวนการออกซิเดชั่นของไขมัน (fat oxidation) จึงลดการเกิดของหลอดเลือดแข็งตัว (antherosclerosis) และลดการเกิดโรคหัวใจในที่สุด
ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่า สารอาหารชนิดอื่นก็มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระหรือต้านออกซิเดชั่นได้ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินอี และวิตามินซี แต่เมื่อจับคู่เปรียบเทียบกันพบว่า คุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของโพลีฟีนอลในชาเขียวจะโดดเด่นกว่าสารชนิดอื่น จึงทำให้ชาเขียวขายดิบขายดีนั่นเอง


ในใบชายังมีสารแคททีชิน(Catechin)สูง ซึ่งเป็นสารช่วยในการเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมัน จึงมีการนำมาแนะนำให้ดื่มเพื่อการลดน้ำหนักตัว ลองนึกดูสรรพคุณแบบนี้ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาดื่มชามากยิ่งขึ้น ซึ่งควรทำความเข้าใจตรงกันว่า การจะได้สรรพคุณหรือรับประโยชน์จากการดื่มชา เพื่อได้รับสารต้านออกซิเดชั่น และสารแคททีนเพื่อให้ร่างกายมีการเผาผลาญมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องดื่มชาอุ่นๆ วันละ ๑๐ – ๑๒ ถ้วย ถึงจะได้สารกลุ่ม โพลีฟีนอล (polyphenols) ออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ หรือมีการแนะนำเบื้องต้นว่า ควรดื่มอย่างน้อย ๔-๕ ถ้วยต่อวันเพื่อบำรุงสุขภาพ แต่ให้รู้ไว้ด้วยว่า ชาแช่เย็นบรรจุขวดหรือกล่องที่ขายดีขายแพงนั้น ไม่เหลือสรรพคุณทางยาแต่อย่างใด มีแต่รส กลิ่น คาเฟอีน สารแทนนิน และน้ำตาลธรรมดาๆ เท่านั้น
แต่ไม่ควรลืมด้วยว่า ใบชานอกจากมีสารออกฤทธิ์เพื่อสุขภาพแล้ว ยังมีคาเฟอีนและสารแทนนิน(รสฝาด) รวมอยู่ด้วย สารคาเฟอีนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ บางคนแพ้สารชนิดนี้ดื่มไปเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ โดยทั่วไปน้ำชา ๑ ถ้วย (ประมาณ ๑๗๐ ซีซี) มีสารคาเฟอีนอยู่ประมาณ ๒๕.๕ – ๓๔ มิลลิกรัม ถ้าดื่มน้ำชา ๑๐ – ๑๒ ถ้วยต่อวันจะได้รับสารคาเฟอีนจำนวนมากด้วย
และข้อมูลความรู้ที่ควรรับรู้ทั่วกันว่า ในน้ำชาและกาแฟ มีสารคาเฟอีน และมีสารแทนนิน ซึ่งสารทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีผลทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี และธาตุเหล็กลดลง
มีการศึกษาพบว่า กาแฟทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลงร้อยละ ๒๓-๖๐ ส่วนน้ำชาทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง ร้อยละ ๘๕-๘๘ สารที่ขัดขวางการดูดซึมคือ สารแทนนิน ซึ่งในชามีมากกว่ากาแฟ ในการศึกษายังพบด้วยว่า การดื่มนมไม่ทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กเปลี่ยนแปลงพูดง่ายๆ ว่าเสมอตัว และที่น่าสนใจพบว่าการดื่มน้ำส้มกลับทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้น ดังนั้นดื่มชาครั้งต่อไปควรบีบมะนาวลงไปด้วย

นอกจากนี้ควรใส่ใจว่า สารแทนนินที่ส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินบีและธาตุเหล็กนั้น จะเพิ่มขึ้นมากเมื่อแช่หรือทิ้งใบชาไว้ในน้ำนานๆ ให้สังเกตว่าถ้ารสชาฝาดมากแสดงว่ามีสารแทนนินมาก จึงไม่ควรแช่ถุงหรือใบชานานเกินไป แต่โชคดีที่การลดการดูดซึมธาตุเหล็กของชานั้น มีผลเฉพาะธาตุเหล็กที่อยู่ในพืช แต่ไม่ส่งผลต่อธาตุเหล็กในเนื้อสัตว์ ไข่ นม ฯลฯ ดังนั้นผู้รับประทานมังสวิรัติ จึงต้องระมัดระวังในการดื่มชา เพราะจะไปลดการได้รับธาตุเหล็กของร่างกาย และแน่นอนว่าสตรีตั้งครรภ์ และเด็กๆ ที่กำลังเติบโต มีความต้องการวิตามินบีและธาตุเหล็ก จึงไม่แนะนำให้ดื่มน้ำชากาแฟ
และมีข้อเตือนใจสำหรับคนที่อยากได้สรรพคุณดีๆ จากใบชา มีรายงานพบว่าคนที่มีสุภาพดีกินอาหารสมดุลอยู่แล้ว การดื่มชาไม่ส่งผลต่อสภาวะเหล็กในร่างกาย แต่คนที่สุขภาพย่ำแย่และมีภาวะเหล็กในร่างกายต่ำอยู่แล้ว ไม่ควรดื่มน้ำชากาแฟ รายงานนี้เตือนสติอีกประการว่า คนที่หวังดื่มชาเพื่อให้มีสารต้านออกซิเดชั่น เพื่อฟื้นฟูร่างกายมักเป็นคนที่สุขภาพไม่ค่อยดี ดังนั้นขณะที่อยากได้สารต้านอนุมูลอิสระก็ต้องระวังการลดการดูดซึมเหล็กในร่างกายด้วย
มีเคล็ดลับฝากไว้ ใครที่ยังอดใจทิ้งชาไม่ได้ เพราะติดสารคาเฟอีนเข้าแล้ว และก็เสียดายสรรพคุณดีๆ ในน้ำชา ขอให้หลีกเลี่ยงดื่มชาหลังอาหาร ควรดื่มหลังจากกินอาหารแล้ว ๒ ชั่วโมง และใครที่ดื่มวันละ ๓-๔ ถ้วย ก็ให้ดื่มแบบกระจายๆ อย่าเหมารวดเดียว คือเฉลี่ยดื่มระหว่างมื้ออาหาร เพื่อรอให้ร่างกายย่อยและดูดซึมวิตามินบีและธาตุเหล็กเสียก่อน ...ฉลาดดื่มชาอุ่นๆ รับลมหนาว ดีไหม ?

โดย กองบรรณาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น