ค้นหาบล็อกนี้

Translate

คุ้มค่าด้วยคุณค่า เติมสุขเสริมสุขภาพ ใช้ปรุงอาหาร หรือชงดื่มเพื่อสุขภาพ หอมชงปานะ

นวัตกรรมเครื่องปรุงครบรสเพื่อสุขภาพ ผลงานวิจัยดีเด่น ม.เกษตรฯ ผลิตจากหอมหัวใหญ่ เข้มข้น 3 เท่า ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน หัวใจ สารก่อมะเร็ง ช่วยชะลอความชรา อีกทั้งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ (อนุภาคหอมหัวใหญ่จะเกาะตัวกันตามธรรมชาติ โดยปราศจากสารเคมีป้องกันการเกาะตัว)

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ภัยเงียบโรคหัวใจ สี่สิบแล้วเริ่มเสี่ยง

นายแพทย์ประดับ สุขุม
“โรคหัวใจ”...มีหลายชนิด อาการ ทั่วๆไปที่ต้องระวังก็คือเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่เจ็บเวลานอนอยู่เฉยๆก็ถือว่าร้ายแรงพอสมควร
นายแพทย์ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ บอกว่า โรคบางอย่างแม้ว่าจะทำให้มีอาการเจ็บแน่น...ปวดแน่นหน้าอกได้ แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดมาจากโรคหัวใจ
ถัดมา...หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย แล้วก็เพลีย...วูบล้มก็เป็น อีกอาการที่ต้องระวัง ที่สำคัญคือ... “อายุ” เกี่ยวข้องค่อนข้างจะมาก โรคหัวใจเป็นมากตามอายุ ยิ่งอายุมากก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ราว 40 ปีขึ้นไปก็เกิดขึ้นได้...ถ้าจะเป็นจริงๆ ส่วนใหญ่มักพบอายุ 50–60 ปีไปแล้ว

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วการระวังตัวอย่ารอให้เป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมตัวรับมือ การตรวจร่างกายสม่ำเสมอก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่การป้องกันที่ดีที่สุดคือ “การใช้ชีวิตที่เหมาะสมที่สุด” เช่น ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจความดัน เบาหวาน คอเลสเทอรอล...ให้อยู่ในระดับปกติ
โรคหัวใจประเภทที่น่ากลัวที่สุดคือ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบและตันขึ้นมา ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ทำให้เหนื่อยอ่อน หายใจไม่สบาย...เส้นเลือดตีบเส้นเลือดตัน บางทีเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
เป็นแล้วไม่ตาย...แต่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับโรคหัวใจโดยตรง แต่เกี่ยวกันทางอ้อม โดยมีโรคบางชนิด...เป็นโรค เกี่ยวกับโรคหัวใจแล้วก็ทำให้มีการเกิดลิ่มเลือดเกิดขึ้นในห้องของหัวใจ แล้วลิ่มเลือดอันนี้หลุดแล้วไหลไปตามเส้นเลือด ถ้าขึ้นไปยังสมอง...เกิดอุดตันก็ทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์

“หัวใจ” เปรียบเหมือนเครื่องจักรที่คอยสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆในร่างกายอย่างไม่มีวันหยุดพัก แน่นอนว่า...หากเราใช้งานเครื่องจักรที่ชื่อหัวใจแบบไม่ดูแลทะนุถนอม ก็อาจทำให้หัวใจของเราทำงานเรรวน หรือหยุดทำงานไปโดยไม่รู้ตัว เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”
หากปฐมพยาบาลหรือทำการรักษาไม่ทันก็อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตลงได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือในบางคนที่ภายนอกอาจดูร่างกายแข็งแรงไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยหนักๆมาก่อน ก็สามารถเสียชีวิตจากภาวะนี้ได้
ต้องย้ำว่า อาการที่แสดงออกถึงโรคหัวใจในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ขณะที่เส้นเลือดเริ่มตีบตันเพียงเล็กน้อย อาจไม่แสดงอาการ จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่หัวใจเริ่มจะขาดเลือด จะเริ่มมีอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติให้เห็น
สืบเนื่องจากอุบัติการณ์ที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้น จากอาการช็อกหมดสติ หัวใจหยุดทำงานเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ จากภาวะของโรคหัวใจโดยตรง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน, โรคลิ้นหัวใจรั่ว, โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนา หรือเกิดจากภาวะหัวใจหยุดทำงานโดยไม่ทราบสาเหตุ
ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงและมักจะยังมีอายุไม่มากนัก หรือโรคใหลตาย...ซึ่งเกิดได้กับทุกคนโดยที่ไม่ทันรู้ตัว
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะช่วยผู้หมดสติคือ ต้องตั้งสติของตัวเองไม่ให้ตกใจจนทำอะไรไม่ได้...หลังจากนั้นให้ทำการเรียกหรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่?
ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งหรือไม่ หรือหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจ
และ...ถ้ามี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ให้รีบขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทันที และถ้าสามารถทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น
ขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย การนวดหัวใจ (Chest compression) โดยปกติสมองสามารถทนต่อการขาดออกซิเจนได้ประมาณ 4 นาทีเท่านั้น...ถ้านานกว่านี้ จะทำให้เซลล์สมองเสียหายได้
ดังนั้นการนวดหัวใจจึงเป็นการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น แค่การนวดหัวใจเพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องเป่าปากร่วมด้วย ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้แล้ว

วิธีการนวดหัวใจทำได้ดังนี้...วางส้นมือข้างที่ถนัดไว้ตรงบริเวณกลางหน้าอกของผู้ป่วย และนำมืออีกข้างหนึ่งวางทับไว้ด้านบน ระหว่างทำการนวดหัวใจให้แขนเหยียดตรงตลอดเวลา จากนั้นให้ทำการกดหน้าอกให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว โดยทำการกดและปล่อยหน้าอกให้คืนตัวสุดก่อนการกด แต่ละครั้ง กดด้วยความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที...หรือ 25ครั้งต่อ 15 วินาที และพยายามทำการนวดหัวใจให้ต่อเนื่องกันให้มากที่สุด
นายแพทย์ประดับ บอกอีกว่า หัวใจไม่ทำงานอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการวูบ หมดสติไปเลยอย่างกะทันหัน เทคโนโลยีวันนี้สามารถจะกระตุ้นหัวใจได้ด้วย เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automated External Defibrillator (AED) ที่จะช่วยผู้ป่วยได้อย่างกะทันหันเช่นกัน
“ผู้ป่วยล้มวูบไป ก็หมายถึงว่าเขาไปแล้วล่ะ...เราต้องช่วยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ดีที่สุดคือภายใน 5 นาทีหลังจากที่ฟุบลงไปแล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คือการปั๊มหัวใจหรือนวดหัวใจ ที่ทำได้ด้วยมือเปล่าก็ช่วยได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีโอกาสรอดชีวิต ถัดมาก็เป็นการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติได้”
เมื่อก่อนเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจมีแต่ในโรงพยาบาล เป็นเครื่องใหญ่อยู่ในห้องไอซียู...ซีซียู ชาวบ้านทั่วไปถ้าเป็นก็ต้องเรียกรถพยาบาลกว่าจะถึงรถก็ติด อาจจะไม่ทันกาล ประโยชน์ก็น้อย เทคโนโลยีที่พัฒนากลายมาเป็นเครื่อง AED ทำงานเหมือนกันแต่มีขนาดเล็ก หิ้วได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวกและก็ใช้งานไม่ยาก
ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะวางเครื่อง AED ไว้ในจุดต่างๆ อาทิ สถานีรถไฟ สนามบิน โรงเรียน สนามกีฬาที่มีคนพลุกพล่าน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน มีผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับการอบรมในสถานที่นั้นๆหรือคนธรรมดาก็สามารถหยิบมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว
ประเทศไทยยังมีใช้น้อยมาก แต่เรากำลังมีโครงการนำร่องเริ่มนำมาใช้ที่รัฐสภา สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินดอนเมือง และอีก 2-3 แห่ง ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีอีกหลายจุดที่สำคัญ
นี่คือหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้คนไทยหันมาสนใจดูแลหัวใจให้แข็งแรงเนื่องในวันหัวใจโลก “Saving Million Hearts 2014...ร่วมดูแลหัวใจคนไทยให้แข็งแรง”
กระนั้นเทคโนโลยีที่แลกมาด้วยชีวิตก็เป็นสิ่งที่ต้องลงทุน สนนราคาเครื่อง AED ในต่างประเทศอยู่ที่ราวๆ 45,000 บาท แต่นำเข้ามาขายในประเทศไทย ผ่านขั้นตอนต่างๆเรียบร้อยแล้วเคาะราคาไม่น่าจะต่ำกว่า 80,000 บาท...

“คิดในมุมช่วยชีวิต...ชีวิตคน เป็นแสนเป็นล้านก็ซื้อไม่ได้”
นายแพทย์ประดับ บอกว่า คนไทยปัจจุบันเป็นโรคหัวใจกันเยอะ... ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา ยุโรป คนที่เป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับเส้นเลือดจะเป็นมากที่สุด มะเร็งเป็นอันดับสอง แต่เมืองไทย “มะเร็ง” ยังเป็นแชมป์อันดับหนึ่งอยู่ โรคหัวใจ...เส้นเลือดยังรองลงมา
อัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในคนไทยที่เพิ่มขึ้นทุกปี มีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น มีภาวะอ้วน ไขมันสะสม สูบบุหรี่เป็นประจำ บวกกับการมีโรคประจำตัว เบาหวาน...ความดัน ไม่ชอบออกกำลังกาย เกิดความเครียดบ่อยครั้ง ตลอดจนปัจจัยทางพันธุกรรม...
การป้องกันโรคหัวใจเป็นสิ่งที่จำเป็น หากตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆจะช่วยให้คนไข้รู้ตัว และใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้โรคหัวใจกำเริบเร็วเกินไป.
ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/452596

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น