มาทำความรู้จักกับ “ฮาลาล” กันเถอะ
“ฮาลาล” เป็นคำมาจากภาษาอารบิก หมายความว่า การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า“อาหารฮาลาล” คือ อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัตินั่นเอง เป็นการรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ เราสามารถสังเกตผลิตภัณฑ์ว่าเป็น “ฮาลาล” หรือไม่นั้น ได้จากการประทับตรา “ฮาลาล” ที่ข้างบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นสำคัญ
“เครื่องหมายฮาลาล” คือเครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการประทับ หรือแสดงลงบนสลาก หรือผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ โดยใช้สัญญลักษณ์ที่เรียกว่า “ฮาลาล”
ซึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับว่า ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า “สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” โดยเครื่องหมายดังกล่าวนี้ จะออกให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ฮาลาล และหรือเนื้อสัตว์ฮาลาลที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. รักษาอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้สะอาดถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ตลอดจนไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
2. วัตถุดิบหลักในการผลิต ตลอดจนเครื่องปรุงอื่น ๆ ต้องระบุแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือได้ว่า “ฮาลาล” โดยไม่แปดเปื้อนกับสิ่งต้องห้าม
3. วัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ และหรือได้เชือดตามศาสนบัญญัติ
4. เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิต หรือปรุงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องเป็นมุสลิม
5. ในระหว่างการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
หน้าที่ของผู้เชือดสัตว์ตามศาสนบัญญัติเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ฮาลาล มีดังนี้
1. ต้องนับถือศาสนาอิสลาม
2. สัตว์ที่จะเชือดนั้น ต้องเป็นสัตว์ที่รับประทานได้ตามหลักศาสนาอิสลาม
3. ต้องไม่ปะปนสัตว์ที่จะเชือดกับสัตว์ต้องห้ามในระหว่างขนส่ง
4. ต้องไม่ทารุณสัตว์ก่อนการเชือด ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชือดต้องมีความคม
5. ให้ผู้เชือดกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ขณะเริ่มทำการเชือด โดยต้องเชือดในคราวเดียวกันให้แล้วเสร็จ โดยไม่ทรมานสัตว์
6. ต้องเชือดให้หลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดข้างลำคอของสัตว์ที่ถูกเชือด ขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยสัตว์จะต้องตายเพราะการเชือดเท่านั้น สัตว์นั้นต้องตายสนิทเองก่อน จึงจะนำไปดำเนินการอย่างอื่นต่อได้
สิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ (ห้ามใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลโดยเด็ดขาด) ได้แก่
1. สัตว์ต้องห้าม ได้แก่
1.1 สุกร สุนัข หมูป่า ลิง
1.2 สัตว์กินเนื้อเป็นอาหารที่มีกรงเล็บ เช่น สิงโต เสือ หมี และอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
1.3 สัตว์ที่มีพิษ หรือสัตว์นำเชื้อโรค เช่น หนู ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ
1.4 สัตว์ที่ไม่อนุญาตให้ฆ่าตามศาสนบัญญัติ เช่น มด ผึ้ง และนกหัวขวาน
1.5 สัตว์ที่ลักษณะน่ารังเกียจ เช่น เหา แมลงวัน หนอน ฯลฯ
1.6 สัตว์ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับลา
1.7 สัตว์ที่มีพิษและเป็นอันตรายทุกชนิด
1.8 สัตว์เพื่อการบริโภคโดยทั่วไป ที่ไม่ได้เชือดตามหลักการของศาสนาอิสลาม
2. เลือดสัตว์ต่าง ๆ
3. อาหารที่มาจากพืชที่มีพิษและเป็นอันตรายทุกชนิด
4. อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ
เป็นที่น่ายินดีของกำลังพล เหล่าทหารพลาธิการ ตลอดจนกำลังพล สังกัด ทบ. โดยทั่วไปที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่โรงงานผลิตเสบียง กองเกียกกาย กรมพลาธิการทหารบก ของเราได้รับการรับรอง “เครื่องหมายฮาลาล” จากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ให้สามารถผลิตเสบียงกระป๋อง ภายใต้เครื่องหมายฮาลาล ถึง 40 รายการ (61 ผลิตภัณฑ์) ด้วยกัน นับเป็นก้าวสำคัญของการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพ ด้วยสายงานพลาธิการให้ขจรขจายไปทั่วโลก เนื่องจากเสบียงฮาลาล ที่ผลิตจากโรงงานผลิตเสบียง กองเกียกกาย กรมพลาธิการทหารบกนั้น มิได้จำกัดกรอบของผู้บริโภคไว้แต่เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น หากแต่เสบียงฮาลาลนั้น มีความน่าเชื่อถือในคุณภาพในตัวของมันเอง เป็นที่ยอมรับของทุกชาติทุกภาษา เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาเสบียงฮาลาลของกรมพลาธิการทหารบก ได้ปรากฏโฉมต่อสายตาของสาธารณชนและสื่อมวลชน ทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่หลายครั้งหลายครา ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัวทากระเทียมพริกไทย เนื้อนกกระจอกเทศทากระเทียมพริกไทย เนื้อไก่งวงทากระเทียมพริกไทย และไก่ทากระเทียมพริกไทย เป็นต้น
กองทัพบกได้มอบหมายให้กรมพลาธิการทหารบก ผลิตเสบียงฮาลาลจำนวนหนึ่ง ส่งไปสนับสนุนกองกำลัง 976 ของไทย ซึ่งได้มอบหมายภารกิจในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพที่ประเทศอิรัก โดยทหารไทยในกองกำลัง 976 ก็ได้ใช้เสบียงเหล่านี้ แจกจ่ายให้กับประชาชนชาวอิรัก เพื่อบรรเทาความหิวโหยและปวดร้าวจากภัยสงคราม เพื่อมนุษยธรรม สร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างทหารไทย และประชาชนชาวอิรัก เปรียบประดุจ “ของขวัญแห่งมิตรภาพ เป็นความปรารถนาดีที่บริโภคได้”
กรมพลาธิการทหารบก คงไม่หยุดยั้งอยู่เพียงเท่านี้ ก้าวต่อไปของเรา จะเป็นการเร่งปรับปรุงโรงงานผลิตเสบียง กองเกียกกาย ให้สมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับเครื่องหมายรับรอง อย. จากกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนพัฒนาเสบียงกระป๋องสำเร็จรูปให้มีความหลายหลาก ผลักดันให้โรงงานผลิตเสบียง กองเกียกกาย กรมพลาธิการทหารบก เป็นครัวของกองทัพอย่างสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างเหมาะเจาะที่มุ่งหวังจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกให้โดดเด่นเป็นมหาอำนาจทางการอาหารต่อไป
มาถึงตรงนี้ ท่านได้ลองลิ้มชิมรส “ความปรารถนาดีที่บริโภคได้” จากโรงงานผลิตเสบียง กองเกียกกาย กรมพลาธิการทหารบก ในรูปแบบของ “เสบียงฮาลาล”แล้วรึยัง
ที่มา : http://qmrta.net/halal.htm