เป็นที่ทราบกันดีว่า
อาหารจานด่วน พัฒนามาจาก รสนิยมและความจำเป็น ที่ต้องรีบเร่ง แข่งกับเวลา เป็นอาหาร ที่ให้บริการอย่างรวดเร็ว สั่งเร็ว - ได้เร็ว - กินเร็ว (สมกันดีเหลือเกินกับคำว่า
"แดกด่วน ยัดเร็ว") หากแต่ขาดความประณีต ในการปรุง ร้านอาหารฟาสต์ฟูด ทำให้คุณค่า ของอาหารเหลือแค่การบริโภค ลดคุณค่า ของรสชาติที่เคยวิไล ให้เหลือเพียงแค่ แฮมเบอร์เกอร์ ผู้ที่บริโภค อาหารฟาสต์ฟูด อาจแทบ ไม่เคยรู้สึก หรือรับรสเลยว่า อาหารจานนั้น อร่อยหรือไม่ มีรสชาติอย่างไร แค่ยัดๆ กินๆ เข้าไป เพื่อที่ จะได้รีบ กลับไปใช้ชีวิต แข่งกับเวลา ที่เดินหน้าไม่เคยรอใคร
ขบวนการสโลว์ฟู้ด จึงให้ความสำคัญ กับศิลปะ ในการปรุงอาหาร ตั้งแต่ การเตรียมส่วนผสม การคัดสรรวัตถุดิบ การปรุงอาหาร แต่ละจาน ด้วยความใส่ใจ ประณีตบรรจง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถสร้างความสุข ให้แก่ผู้ที่ได้ลิ้มลอ งอาหารจานนั้นๆได้ นอกจากนี้ ยังเน้นในเรื่องวัตถุดิบ หรือส่วนผสมที่ใช้ เพราะอาหารที่ดีต้องมีพื้นฐานมาจาก วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ต้องเป็นวัตถุดิบ ที่สดสะอาด นำมาประกอบอาหาร ที่ให้ประโยชน์ทางโภชนาการต่อร่างกาย
แต่หากจะถามว่า สูตรอาหารแบบ
สโลว์ฟู้ด ที่แจกแจงว่ามีส่วนผสมอะไรนั้น คงไม่สามารถบอกได้ เนื่องจาก สโลว์ฟู้ด Food เป็นแนวคิด ในการใช้ชีวิต ซึ่งหมายรวมถึง การกินอาหารแต่ละมื้อด้วย สโลว์ฟู้ด ไม่จำเป็น ต้องเป็น อาหารหรู ที่ปรุงอย่างประณีต ตามโรงแรมหรู หรือภัตตาคาร ระดับห้าดาว เสมอไป อาหารที่เรากินในแต่ละวัน สามารถทำให้เป็น สโลว์ฟู้ด ได้ เช่น อาหารง่ายสุดฮิตอย่างแซนด์วิช สามารถ กลายเป็น สโลว์ฟู้ด ได้ โดยการเลือกใช้ ขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขาว สอดไส้ด้วย ไก่อบหรือหมูอบ ที่ผ่านขั้นตอนการปรุง อย่างถูกวิธี ใส่ผักสด สะอาดอย่าง ผักกาดหอมหรือมะเขือเทศ เพิ่มรสชาติอีกนิดด้วยมัสตาร์ด และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ต้องนั่งลง กินอาหารมื้อนั้น ที่โต๊ะ อย่ารีบทาน ค่อยๆดื่มด่ำกับทุกๆรสชาติที่สัมผัสได้ อาจเพิ่มอรรถรสด้วยบทสนทนากับคนรู้ใจ แค่นี้ คุณก็สามารถ รับประทานอาหาร และมีความสุขกับชีวิตแบบ Slow Food ได้
ส่วนร้านอาหารใดจะได้เป็นร้านอาหารแบบ สโลว์ฟู้ด คุณแฟรงค์บอกว่า "ไม่ว่าร้านอาหารใด ก็สามารถเป็นสโลว์ฟู้ด หากรายการ อาหารต่างๆ ที่อยู่ในเมนู วัตถุดิบที่เลือกมาปรุง เป็นวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ หาได้ในในท้องถิ่น" ยกตัวอย่างเช่น คุณอยากจะมีของหวาน ซักรายการ ที่ทำจากสตรอเบอร์รี่ คุณสามารถระบุลงไป ให้ลูกค้าทราบได้ว่า สตรอเบอร์รี่ ที่คุณใช้นั้นมาจากเชียงใหม่ ปลูกที่เชียงใหม่ ไม่ใช่ สตรอเบอร์รี่ ที่มาจากชิลี หรือแคลิฟอร์เนีย แต่เป็นสตรอเบอร์รี่ ของประเทศไทย ดังนั้นก็จะสดกว่าเพราะใช้เวลาในการขนส่งน้อยกว่า และควรภูมิใจเพราะเป็นสตรอเบอร์รี่ที่คนไทยปลูกเอง พูดง่ายๆ คือเป็นการสนับสนุนสินค้าเกษตรกรรมในประเทศ
ไม่ว่าร้านอาหารใด ก็สามารถเป็น สโลว์ฟู้ด หากรายการ อาหารต่างๆ ที่อยู่ในเมนู วัตถุดิบที่เลือกมาปรุง เป็นวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ หาได้ในในท้องถิ่น
นอกจากนี้ผู้ปรุงอาหาร ต้องมีความเป็น สโลว์ฟู้ด คือ ต้องใส่ใจทุกๆรายละเอียด ทุกๆขั้นตอนในการปรุง คำนึงถึงลูกค้า ที่มารับประทาน อาหาร อยากให้พวกเขาได้กินอาหารจานที่รสเลิศที่สุด อร่อยที่สุด มีความสุขจากอาหารที่คุณปรุง .. หรือหากคุณอยากทำอาหารแบบ สโลว์ฟู้ด ทานที่บ้าน คุณก็สามารถทำได้ โดยการใส่ใจเวลา ไปซุปเปอร์มาร์เก็ต เลือกซื้อของ ให้สังเกตสักนิดว่า สิ่งที่คุณจะซื้อนั้น ผลิตใน ประเทศไทย หรือเปล่า ปลอดสารพิษมั้ย ผ่านการตรวจสอบที่ถูกต้องหรือเปล่า แล้วนำกลับมาปรุงอย่างใส่ใจ .. ใช่ครับคำนี้ ใส่ใจ .. จากนั้น คุณก็มีความสุข กับอาหารที่คุณทำ กับสมาชิกในครอบครัว .. ไม่ว่าใคร ไม่ว่าอาหารร้านใดสามารถเป็น สโลว์ฟู้ด คุณทำได้ครับ และผมอยากจะ สนับสนุนความคิดนี้ ให้คนไทยได้รับรู้และปฏิบัติกัน"
ดังนั้น อาหารแบบ สโลว์ฟู้ด จึงเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ (หรืออย่างที่ชาวตะวันตกเรียกว่ามี taste) มีรสชาติ ที่เป็นจุดเด่น ของชาติ หรือท้องถิ่นนั้นๆ ใช้วัตถุดิบที่ผลิต และหาได้ในท้องถิ่น ได้รับการปรุงอย่างประณีต ใส่ใจ ในทุกๆ รายละเอียด ทุกขั้นตอน และการกิน อาหาร แบบ สโลว์ฟู้ด เป็นการกินอาหารที่ผู้กินสามารถลิ้มลองสัมผัส และมีความสุขกับอาหารที่กินได้อย่างแท้จริง
ด้วยอารยธรรมอุตสาหกรรม เราต่างตกเป็นทาส ของความรวดเร็ว และยอมจำนน ต่อเชื้อไวรัส ร้ายกาจ ตัวเดียวกัน นั่นก็คือชีวิตที่รีบร้อน ซึ่งได้รบกวน รุกล้ำเข้าไป ในชีวิตส่วนตัว และบังคับเรา ให้รับประทานอาหารอย่าง "แดกด่วน ยัดเร็ว"
ศตวรรษของเราเริ่มต้น และพัฒนาขึ้น ด้วยอารยธรรมอุตสาหกรรม เราต่างตกเป็นทาส ของความรวดเร็ว และยอมจำนน ต่อเชื้อไวรัส ร้ายกาจ ตัวเดียวกัน นั่นก็คือชีวิตที่รีบร้อน ซึ่งได้รบกวน รุกล้ำเข้าไป ในชีวิตส่วนตัว และบังคับเรา ให้รับประทานอาหารอย่าง "แดกด่วน ยัดเร็ว" เพื่อให้สมศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ เราจึงควรปลดปล่อย ตัวเองจากความเร่งร้อน ก่อนที่ความเร่งร้อน จะทำให้ชีวิตของเราหมดคุณค่าลง การป้องกันที่ดี ควรเริ่มต้นที่โต๊ะอาหาร ด้วยการรับประทานแบบ สโลว์ฟู้ด ซึ่งจะทำ ให้เราได้ค้นพบ รสชาติอาหาร ที่แท้จริง และ ลักษณะเฉพาะ ของอาหาร แต่ละประเภทอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็น การสืบสานศิลปะ การปรุงอาหารแบบดั้งเดิม รวมทั้งขจัดผลกระทบ ของอาหารฟาสต์ฟูด ที่นับวันจะก่อให้เกิดแต่ผลเสียต่อร่างกายและการใช้ชีวิต ที่มา : กินเปลี่ยนโลก
http://www.food4change.in.th/
เมื่อไม่นานมานี้มีผู้สื่อข่าวโทรศัพท์มาพูดคุยว่าอยากได้วิทยากรที่สามารถให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสโลว์ฟู้ดส์ (Slow Foods) จึงถามกลับไปว่าสโลว์ฟู้ดส์ที่พูดถึงสะกดอย่างไร เนื่องจากไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็เลยถึงบางอ้อว่าก็ Slow ที่แปลว่าช้า ตรงกันข้ามกับคำว่าฟาสต์ Fast) ที่แปลว่าเร็ว
เมื่อได้สอบถามนักวิชาการหลายท่านก็ไม่ได้ให้ความสนใจนัก โดยมองว่าเป็นเพียงกระแสด้านสุขภาพ ซึ่งความจริงแล้วในวงการสุขภาพหรือวงการโภชนาการก็จะมีกระแสต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ แม้นักโภชนาการจะให้คำแนะนำว่าการกินอาหารตามโภชนบัญญัติเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพแล้วก็ตาม แต่กระแสต่างๆ ก็เข้ามาเรื่อยๆ เป็นต้นว่าที่ผ่านมามีกระแสของเรื่องกินตามธาตุ กินตามกรุ๊ปเลือด น้ำอาร์.ซี. น้ำลูกยอ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ เป็นต้น ทำให้คนเราต้องเรียนรู้เพื่อที่จะได้รู้ทันและเข้าใจ ทั้งนี้ก็เพื่อกินสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพนั่นเอง
อาหารฟาสต์ฟู้ดส์เป็นอาหารที่ต้องการความรวดเร็ว ทำง่ายๆ กินเร็วๆ ไม่พิถีพิถัน ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงอาหารตะวันตก เช่น แซนด์วิช ฮอตดอก แฮมเบอร์เกอร์ พิซซา เป็นต้น อาหารเหล่านี้เมื่อพิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการพบว่าเป็นอาหารที่มีสัดส่วนของสารอาหารไม่ดี คือให้พลังงานสูง โปรตีนและไขมันสูง ให้เส้นใยอาหารต่ำ จะเห็นได้ว่ามีผักเป็นส่วนประกอบน้อยมาก และบางคนเมื่อกินก็ยังเขี่ยผักออก ยิ่งในปัจจุบันนักวิชาการด้านโภชนาการของประเทศทางตะวันตกเองก็วิตกกังวลกันมาก เมื่อพบว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศตนมีภาวะโภชนาการเกินมากขึ้น อีกทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ดส์เหล่านี้นับวันขนาดของชิ้นอาหารก็ใหญ่ขึ้น ทำให้คนกินได้รับพลังงานมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรักษาดูแลผู้ที่มีปัญหาโภชนาการเกินจนเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าอ้วน ไขมันในเลือดสูง หัวใจขาดเลือด เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาดูแลยาก และใช้เวลาในการรักษาเป็นระยะเวลานาน
นอกจากนี้คนบางกลุ่มมีความเห็นว่าการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ทำให้คนเราขาดความละเมียดละไม ขาดความพิถีพิถัน มีชีวิตที่รีบเร่ง ประกอบกับอาหารฟาสต์ฟู้ดส์มีสัดส่วนของสารอาหารที่ไม่สมดุล ทำให้คนที่นิยมกินอาหารเหล่านี้เป็นประจำเกิดปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้มีการรวมกลุ่มกันของคนไม่ชอบและปฏิเสธอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ก่อตั้งสมาคมอาหารสโลว์ฟู้ดส์ขึ้นเป็นครั้งแรกในอิตาลีเมื่อ พ.ศ. 2529 แล้วจึงกระจายออกไปยังประเทศต่างๆ แม้แต่ในประเทศไทย
สโลว์ฟู้ดส์เป็นรูปแบบของการกินอาหารที่คิดค้นขึ้นโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียนชื่อคาร์โล เปตรินี (Carlo Petrini) เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2529 ในประเทศอิตาลีได้มีร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์เกิดขึ้นอย่างมากมาย ทำให้คาร์โลซึ่งเป็นคนไม่นิยมการกินอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์และไม่นิยมใช้ชีวิตเร่งรีบชักชวนเพื่อนที่มีแนวคิดเหมือนกันมาร่วมก่อตั้งสมาคมสโลว์ฟู้ดส์ขึ้น โดยกลุ่มคนในสมาคมนี้มีแนวคิดที่เหมือนกัน คือให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน การอนุรักษ์และส่งเสริมอาหารท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับศิลปะในการปรุงอาหาร คือเลือกกินอาหารที่ปลูกหรือผลิตในท้องถิ่นที่อาศัย โดยมีความเห็นว่าจะได้อาหารที่มีความสดมากกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลากับการขนส่ง และพืชผักที่ปลูกในท้องถิ่นมักไม่มีการใช้สารเคมี ปลูกในปริมาณที่ไม่มากนัก นอกจากนี้ผู้ผลิตอาหารสโลว์ฟู้ดส์จะใส่ใจในทุกขั้นตอนของการผลิตอาหาร มีความสุขในขณะปรุง อาหารทุกจานที่ผลิตได้จึงมีรสชาติอร่อย และใส่ใจจนถึงขั้นตอนที่ลูกค้ามากินอาหาร อาหารสโลว์ฟู้ดส์จึงเป็นอาหารที่มีศิลปะ มีความประณีต ต่างจากอาหารในปัจจุบันที่ผลิตในปริมาณมากๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
สมาคมหรือชมรมอาหารสโลว์ฟู้ดส์ได้เลือก “หอยทาก” เป็นสัญลักษณ์ของสมาคม ด้วยเหตุผลว่าหอยทากเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไม่เร่งรีบ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ค่อยๆ คืบค่อยๆ คลานไปเรื่อยๆ ดูมีความสุข การกินอาหารก็ไม่เร่งรีบ เหมือนกับคนในสมาคมสโลว์ฟู้ดส์ ดังนั้นหากต้องการกินอาหารสโลว์ฟู้ดส์ก็ให้สังเกตสัญลักษณ์หอยทาก เพราะร้านอาหารหรือภัตตาคารที่ขายอาหารสโลว์ฟูดส์จะแสดงสัญลักษณ์รูปหอยทากให้เห็น
การแพร่กระจายของสมาคมอาหารสโลว์ฟู้ดส์ไปยังประเทศต่างๆ ยังเป็นไปอย่างไม่รวดเร็วนัก ปัจจุบันมีรายงานว่าสมาคมนี้มีสมาชิกประมาณ 80,000 คน กระจายอยู่ใน 100 ประเทศ โดยเปิดสำนักงานในสวิสเซอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2538 ส่วนในเยอรมนีเปิดสำนักงานใน พ.ศ. 2541 เปิดในอเมริกาปี พ.ศ. 2543 ในฝรั่งเศสปี พ.ศ. 2546 และในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2548 โดยสมาคมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงและส่งเสริมอาหารท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการทำอาหารและอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องของรสชาติอาหาร ทั้งนี้ใน พ.ศ. 2547 คาร์โล เปตรินี และแมสซิโม มอนตานารี ได้ร่วมกันเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับบริโภคศาสตร์ที่ประเทศอิตาลี เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงการกินอาหารที่ดีและการมีโภชนาการที่ดี สำหรับประเทศไทย อาหารสโลว์ฟู้ดส์ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยนัก เพราะเพิ่งเริ่มเข้ามาในเมืองไทย โดยผู้ที่นำสโลว์ฟู้ดส์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยคือแฟรงค์ แกรสมันน์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มที่โรงแรมดุสิตธานี ในขณะนี้หากคุณผู้อ่านสนใจและต้องการกินอาหารสโลว์ฟู้ดส์น่าจะหากินได้ยากหน่อย เพราะในเมืองไทยเท่าที่ทราบมีเพียง 2 แห่ง คือที่โรงแรมดุสิตธานี และอีกแห่งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต
คนยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีเวลาสำหรับการดูแลตนเองน้อยลง นำเรื่องของเศรษฐกิจเรื่องของเงินมาเป็นตัวกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ต้องทำงานทำมาหากินเพื่อให้ได้เงินมากๆ เพื่อซื้อความสุขของตนเองและครอบครัว ทำให้เวลาที่จะใส่ใจในเรื่องอาหารการกินมีน้อยลง กินอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องใช้เวลามาก อีกทั้งกินเพียงเพื่อดับความหิวเท่านั้น กลุ่มคนในสมาคมสโลว์ฟู้ดส์จะมองตรงข้าม โดยจะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนจะนึกถึงสังคมไทยยุคเก่าๆ จะเห็นได้ว่าอาหารในสมัยที่ย้อนกลับไปสัก 50-60 ปีที่ผ่านมาน่าจะจัดเป็นสโลว์ฟู้ดส์ได้เช่นกัน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน อยากให้คุณผู้อ่านย้อนนึกไปถึงกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เพราะมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปรุงอาหารทั้งคาวหวาน อีกทั้งสังคมไทยในสมัยก่อนพืชผักสวนครัวก็มีอยู่ในบริเวณบ้าน ไม่เช่นนั้นก็มีการแลกเปลี่ยนกัน การปรุงอาหารมีความประณีตหลากหลายเพราะกินเป็นสำรับ และยังมีรายละเอียดว่าอาหารอะไรกินกับอะไรจึงจะเข้ากันและอร่อย กินของคาวเสร็จแล้วต้องกินผลไม้หรือขนมหวานตบท้าย เป็นต้น และในแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นของไทยก็ยังมีอาหารพื้นบ้านของตนเอง เช่น ภาคใต้มีแกงเหลือง แกงไตปลา, ภาคเหนือมีน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม, ภาคอีสานมีส้มตำ แกงอ่อม, ภาคกลางมีน้ำพริกกะปิปลาทู แกงเขียวหวาน ซึ่งล้วนมีรสชาติอร่อยและต้องใช้ความประณีตใส่ใจในทุกขั้นตอนตั้งแต่วัตถุดิบ
ในด้านโภชนาการ สโลว์ฟู้ดส์น่าจะมีข้อดีตรงที่ได้กินอาหารที่เป็นธรรมชาติ กินอาหารในท้องถิ่นซึ่งมีความสดและคงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารที่ต้องขนส่งมาจากที่ไกลๆ ซึ่งจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการสูญเสียไปในระหว่างการขนส่ง โดยเฉพาะวิตามิน นอกจากนี้ในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร หากเป็นพืชผักท้องถิ่นอาจไม่ใช้หรือใช้สารเคมีน้อยกว่าพืชที่ปลูกในฟาร์มใหญ่ อาหารที่มีความพิถีพิถันในการปรุงเพื่อกินเพียงมื้อเดียวไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีประเภทสารกันบูด กันเชื้อรา จึงทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ในมุมมองของผู้เขียน การกินอาหารสโลว์ฟู้ดส์ตามแบบดั้งเดิมของผู้ก่อกำเนิดโดยไม่มีการดัดแปลงอาจเป็นเรื่องยากลำบากในสังคมที่ไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจนัก แต่เราอาจเลือกข้อดีบางอย่างในอาหารสโลว์ฟู้ดส์มาใช้ เช่น การกินอาหารสด กินอาหารท้องถิ่น เป็นต้น
สำหรับคนไทยแล้ว เรามีรูปแบบอาหารที่ดีทั้งในด้านความหลากหลายในเรื่องของรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ การกินอาหารแบบไทยๆ โดยพยายามดัดแปลงให้เหมาะสมกับแต่ละคนแต่ละครอบครัวน่าจะเป็นสิ่งที่ดี โดยควรให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยและกินให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ด้วย ที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกาย เท่านี้คุณก็สามารถสร้างสุขภาพดีให้กับตัวเองได้
ที่มา : http://www.gourmetthai.com/newsite/nutrition/nutrition_detail.php?content_code=CONT372