จากผลสำรวจของนิตยสาร Men's Health คนเราจะกินน้ำตาลที่ปนอยู่ในอาหาร เฉลี่ยประมาณ 82 กรัมต่อวัน ตัวเลขนี้มากกว่าการกินไอศครีมแซนวิชโอริโอ 6 ชิ้นเสียอีก!
สิ่งที่น่าตกใจก็คือ เจ้าน้ำตาล 82 กรัมนี้ ไม่ได้มาจากไอศครีมที่พูดถึง หรือของหวานอื่นๆ ที่พวกเราชอบกิน แม้เราจะงดของหวาน เค้ก น้ำอัดลมแล้วก็ตาม น้ำตาลจำนวนมากนี้ก็ยังเล็ดรอดเข้าสู่ร่างกายของเราและทำให้อ้วนได้อยู่ดี
ยังไงนะเหรอ...มันแอบอยู่ในอาหารที่พวกเราคิดว่าไม่ทำให้อ้วนไง!
ลองเปิดตู้เย็นดู หยิบขนมหรืออาหารที่เราทานตอนลดน้ำหนักมาสักชิ้นสองชิ้น แล้วตรวจดูฉลากด้านหลัง พนันได้เลยว่า อาหารที่น้องๆ หยิบมาดู จะต้องมีน้ำตาลจำพวกนี้ผสมอยู่แน่นอน
modified food starch (แป้งดัดแปลง), maltodex-trin (แป้งจากธัญพืช), cane sugar (น้ำตาล), crystallized cane juice (น้ำตาลผลึก), evaporated cane juice (น้ำตาลทราย), honey (น้ำผึ้ง), tapioca syrup (น้ำเชื่อม), brown sugar (น้ำตาลทราย), brown rice syrup (น้ำเชื่อมอีกประเภทนึง), barley (ข้าวบาเลย์), หรือส่วนผสมอื่นๆ ที่มีชื่อลงท้ายด้วยคำว่า "ose". (บอกก่อนว่าย่อหน้านี้แปลยากมากๆ เพราะเป็นส่วนผสมที่ชีวิตนี้พี่อิงไม่เคยคิดว่าจะได้แตะต้อง - ทำอาหารไม่เป็นนั่นเอง เอาคร่าวๆ ไปเนอะ ว่าแต่ละอย่างที่พูดถึงคือน้ำตาล น้ำเชื่อมต่างๆ)
ที่เลวร้ายคือ บริษัทผู้ผลิตอาหารเหล่านี้ ภูมิใจอย่างยิ่งที่จะใช้คำว่า "ไม่อ้วน" หรือ "ไร้แคลอรี่" หรือ "อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก" ในการโฆษณา สงสัยกันแล้วสิว่า อาหารที่มีส่วนผสมเหล่านี้มีอะไรบ้าง มีทั้งหมด 8 อย่าง จะพาไปรู้จักทีละอย่างนะคะ จะได้ไม่หลงกล กินเพื่อลดน้ำหนัก แต่กลับยิ่งกินยิ่งอ้วน
1. ซีเรียล
ซีเรียลที่ไม่มีตัวการ์ตูนอยู่บนหน้ากล่อง ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่อ้วนนะ พวกซีเรียลที่หน้ากล่องอ้างว่า 0% แคลอรี มีรูปหัวใจแข็งแรงแปะไว้เด่นๆ หรือมีตราเหรียญทองรับรองสุขภาพอะไรเทือกๆ นั้น ก็ไม่ได้ทำให้มันกลายเป็นอาหารลดน้ำหนักแต่อย่างใด เพราะใน 1 ถ้วยที่เรากิน บางยี่ห้อมีน้ำตาลเยอะกว่าพวกซีเรียลที่หน้ากล่องเป็นการ์ตูน แล้วมีหลากสีเสียอีก
ทางเลือกที่ดีคือ เลือกซีเรียลที่เน้นไฟเบอร์เยอะๆ และมีสัดส่วนเยอะกว่าน้ำตาล (ลองเปรียบเทียบกับหลายๆ ยี่ห้อ) เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
ตัวอย่างที่ดี ควรมีสารอาหารดังนี้
ซีเรียลปริมาณ 1 ถ้วย ให้...
170 calories (แคลอรี่)
1 g - fat (ไขมัน)
0 g - sugars (น้ำตาล)
6 g - fiber (ไฟเบอร์)
ตัวอย่างที่ไม่ดี
ซีเรียลปริมาณ 1 ถ้วย ให้...
190 calories (แคลอรี่)
0.5 g - fat (ไขมัน)
14 g - sugars (น้ำตาล)
3 g - fiber (ไฟเบอร์)
สังเกตได้ว่า ในตัวอย่างซีเรียลที่ไม่ดี ปริมาณน้ำตาลเยอะมากถึง 14 กรัม ขณะที่ไฟเบอร์มีแค่ 3 กรัม
2. ซีเรียลธัญพืช
คนเรามักจะเชื่อสนิทใจว่าอาหารหรือขนมที่จะซื้อนั้นไม่อ้วน ถ้าได้รับการรับรองจากกลุ่มหรือองค์กรสุขภาพอะไรสักอย่าง (ประเภทมีตรา fitness ที่เราไม่เข้าใจ แปลไม่ออก แปะไว้หน้ากล่อง)
ขอบอกว่า เจ้าพวกนี้แหละ ที่ควรจะสงสัยเอาไว้ก่อนเลย โดยเฉพาะเวลาจะซื้อซีเรียลธัญพืช เชื่อไหมว่า ซีเรียลธัญพืชที่วางขายเกือบทั้งหมด ถ้ากินไป 1 ชาม เราจะได้ปริมาณน้ำตาล เกือบจะเท่าคุ้กกี้ 1 ถาด!!!
ทางเลือกที่ดีคือ ควรจะอ่านฉลากปริมาณส่วนผสมบ้าง...
ตัวอย่างที่ดี ควรมีสารอาหารดังนี้
ซีเรียลธัญพืช 1 ถ้วย ให้...
200 calories (แคลอรี่)
3.5 g - fat (0 g saturated) (ไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว)
10 g - sugars (น้ำตาล)
7 g - fiber (ไฟเบอร์)
ตัวอย่างที่ไม่ดี
ซีเรียลธัญพืช 1 ถ้วย ให้...
420 calories (แคลอรี่)
12 g - fat (7 g saturated) (ไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว)
30 g - sugars (น้ำตาล)
6 g - fiber(ไฟเบอร์)
ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า น้ำตาลเยอะขนาดนี้ พวกธัญพืชซีเรียลทั้งหลาย ยังพยายามทำให้คนเชื่อว่าเป็นอาหารลดน้ำหนัก นี่มันอ้วนพอๆ กับกินช็อกโกแลตแท่งเลยนะ
3. ขนมปังวีต (Wheat Bread)
เพราะคนเราชินกับขนมปังแผ่นขาวๆ นุ่มๆ มากกว่า จึงไม่แปลกที่หลายคนจะกินขนมปังวีต หรือโฮลวีตแทบไม่ได้ เนื่องด้วยความแข็งและรสชาติอย่างกับกินดิน แต่ยังไงก็ต้องกล้ำกลืนกินเข้าไป เพราะรับรู้มาว่ามันดีต่อสุขภาพและไม่อ้วน
ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทผู้ผลิตขนมปังโฮลวีตทั้งหลาย ที่กลัวจะเสียลูกค้าไป จึงจงใจผสมน้ำตาลลงไป เพื่อกลบรสชาติแปลกเฝื่อนของมัน และทำให้คล้ายกับขนมปังขาวๆ นุ่มๆ พวกนั้น แน่นอน...ผลก็คือ มันก็อ้วนพอๆ กับขนมปังขาวนั่นแหละ
ตัวอย่างที่ดี ควรมีสารอาหารดังนี้
ขนมปัง 2 แผ่น ให้...
160 calories (แคลอรี่)
1 g - fat (ไขมัน)
0 g - sugars (น้ำตาล)
6 g - fiber (ไฟเบอร์)
ตัวอย่างที่ไม่ดี
ขนมปัง 2 แผ่น ให้...
240 calories (แคลอรี่)
3 g fat (1 g saturated) (ไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว)
10 g sugars (น้ำตาล)
6 g fiber (ไฟเบอร์)
น้ำตาล 10 กรัมในขนมปังแค่สองแผ่น เชื่อไหมว่ามีน้ำตาลมากกว่าช็อกโกแลตแท่งบางยี่ห้อเสียอีก
4. แครกเกอร์
ขนมปังอบแห้งแข็งๆ แผ่นเล็กที่มักจะไม่มีรส หรือมีรสเค็ม รู้ไหมว่ามันก็มีน้ำตาลผสมอยู่ด้วย จริงๆ แล้วน้ำตาลที่ใส่เข้าไปนั้นไม่ได้มีจำนวนมากเท่าไหร่ แต่ปัญหามันเกิดก็ตรงที่น้ำตาลมาเจอกับแป้งล้วนๆ นี่แหละ
แครกเกอร์ผลิตจากแป้งล้วนๆ เมื่อกินเข้าไปแล้ว มันจะกลายเป็นแป้งชนิดย่อยเร็ว บวกกับน้ำตาลที่ผสมอยู่ด้วย ทำให้ตับอ่อนของเราต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อปล่อยอินซูลินจำนวนมากออกมารักษาระดับน้ำตาลในเลือด
ในร่างกายปกติ มันก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้าร่างกายใครไม่ปกติ โดยเฉพาะมีปัญหาเรื่องตับ หรือเป็นเบาหวาน รับรองว่าเกิดปัญหาใหญ่แน่ ทางแก้ถ้าอยากกินมากๆ ก็คือ ควรหาแครกเกอร์แบบไร้น้ำตาลมากินแทน ซึ่งก็ต้องอ่านฉลากส่วนผสมให้ดีๆ
ตัวอย่างที่ดี ควรมีสารอาหารดังนี้
แครกเกอร์ 15 ชิ้น ให้...
130 calories (แคลอรี่)
5 g - fat (1 g saturated) (ไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว)
0 g - sugars (น้ำตาล)
3 g - fiber (ไฟเบอร์)
แครกเกอร์ที่ดีควรจะมีแค่แป้งโฮลวีตผสมกับน้ำมันและเกลือเล็กน้อย
ตัวอย่างที่ไม่ดี
แครกเกอร์ 15 ชิ้น ให้...
130 calories (แคลอรี่)
4 g - fat (0.5 g saturated) (ไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว)
3.5 g - sugars (น้ำตาล)
1 g - fiber (ไฟเบอร์)
มีทั้งน้ำตาลและไขมันที่เป็นอันตรายด้วย ทานเข้าไปทั้งสุขภาพไม่ดี และอ้วนอีกต่างหาก
5. อาหารเสริมแบบแท่ง
ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงไม่แปลกที่อาหารเสริม (ซึ่งทุกคนเข้าใจไปเองว่า) อุดมไปด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ และสารอาหารอื่นๆ จะได้รับความนิยมมากขึ้น
ซึ่งมันก็จริงนะ เจ้าแท่งอาหารเสริมพวกนี้มีโปรตีน ไฟเบอร์ สูงอย่างที่ผู้ผลิตอ้าง แต่ข่าวร้ายที่พี่อิงจะขอเสริมก็คือ น้ำตาลมันก็สูงมากด้วย!
แล้วผู้ผลิตแก้ปัญหานี้ยังไง? เขาก็ซ่อนเจ้าน้ำตาลตัวร้ายไว้ภายใต้ชื่อหรูหราดูดีมีประโยชน์ เช่น crystalline fructose (ผลึกฟรุกโตส), brown rice syrup (น้ำเชื่อมข้าวแดง)
สิ่งเดียวที่ผู้บริโภคทำได้ก็คือ พยายามเลือกกินอาหารเสริมแบบแท่งที่มีโปรตีน ไฟเบอร์ รวมถึงไขมันที่มีประโยชน์ และมีน้ำตาลผสมอยู่น้อยที่สุด
ตัวอย่างที่ดี ควรมีสารอาหารดังนี้
อาหารเสริมแบบแท่ง 1 แท่ง ให้...
220 calories (แคลอรี่)
11 g - fat (1 g saturated) (ไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว)
8 g - sugars (น้ำตาล)
6 g - fiber (ไฟเบอร์)
7 g - protein (โปรตีน)
จากตัวอย่าง อาหารเสริมแบบแท่งยี่ห้อนี้มีสารอาหารสำคัญครบถ้วนในปริมาณที่สูง ซึ่งได้แก่ โปรตีน ไฟเบอร์ และไขมันที่ดีต่อสุขภาพ
ตัวอย่างที่ไม่ดี
อาหารเสริมแบบแท่ง 1 แท่ง ให้...
220 calories (แคลอรี่)
3.5 g fat (0.5 g saturated) (ไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว)
30 g sugars (น้ำตาล)
<1 g fiber (ไฟเบอร์)
6 g protein (โปรตีน)
ตัวอย่างนี้แทบจะไม่มีไฟเบอร์เลย และมีน้ำตาลผสมอยู่เยอะกว่ามาก ปริมาณน้ำตาลนี้พอๆ กับไอศครีม 2 ลูกเลยทีเดียว! ใครเคยกินเจ้าพวกนี้แทนอาหารเช้าเพื่อลดความอ้วน สยองกันไหมเอ่ย!
6. โยเกิร์ต
มีเรื่องหนึ่งที่หลายๆ คนยังไม่เคยรู้ นมวัวเป็นผลผลิตจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวที่มีรสหวานโดยธรรมชาติ ทำให้หลายๆ คนที่กำลังลดความอ้วนไม่ยอมดื่มนม แต่ไม่ยักจะหยุดกินโยเกิร์ต แถมยังชอบสุดๆ เวลาได้สัมผัสกับรสหวานนุ่มเย็นๆ ใจก็คิดไปว่ากินโยเกิร์ตไม่อ้วนๆ
เรื่องจริงก็คือ ถ้าเราไม่อ่านฉลากส่วนผสม เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าโยเกิร์ตที่บอกว่าจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่เสริมแต่งเนี่ย มันธรรมชาติจริงไหม ซึ่งส่วนใหญ่ที่วางอยู่บนเชลฟ์มักจะผสมโน่นนี่มาแล้วแหละ เพื่อให้รสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภคมากขึ้น
ดังนั้นก่อนซื้อ ควรอ่านฉลากให้ดีๆ จะได้ไม่ถูกหลอกด้วยคำโฆษณา
ตัวอย่างที่ดี ควรมีสารอาหารดังนี้
โยเกิร์ต 1 ถ้วย ให้สารอาหาร...
80 calories (แคลอรี่)
0 g - fat (ไขมัน)
6 g - sugars (น้ำตาล)
15 g - protein (โปรตีน)
ส่วนใหญ่โยเกิร์ตแบบเพียวๆ มักมีรสชาติไม่น่าพิสมัยเท่าไหร่ แนะนำให้ใส่ผลไม้ที่มีรสหวานลงไปแทน จะดีกว่าไปซื้อโยเกิร์ตรสโน่นนี่ซึ่งหวานโดยการปรุงแต่ง
ตัวอย่างที่ไม่ดี
โยเกิร์ต 1 ถ้วย ให้สารอาหาร...
170 - calories (แคลอรี่)
1.5 g - fat (1 g saturated) (ไขมันไม่อิ่มตัว และไขมันอิ่มตัว)
27 g - sugars (น้ำตาล)
4 g - protein (โปรตีน)
ผู้ผลิตมักจะดึงดูดความสนใจของคนซื้ออย่างเราๆ ด้วยคำว่า "99% Fat Free" หรือ"ไขมันต่ำ" หรือ "ไขมัน 0%" บนฉลาก พอเห็นแบบนี้เราก็เบาใจ ไม่อ่านลิสส่วนผสม ซึ่งจริงๆ แล้วมันซ่อนไขมันอันตรายและน้ำตาลเอาไว้สูงมาก มากพอๆ กับกินขนมปังหวานๆ ก้อนนึงเลยทีเดียว
7. เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
น้อยคนจะคิดถึงอันตรายจากน้ำตาลปริมาณมากที่ผสมอยู่ในเครื่องดื่มพวกนี้ ผู้ผลิตมักโฆษณาว่าเครื่องดื่มของเขาดีต่อสุขภาพอย่างโน้นอย่างนี้ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำจากธรรมชาติ เพิ่มพลังงาน คลายเครียด เต็มไปหมด แต่อย่างเดียวที่ผู้ผลิตไม่ยอมบอกก็คือ น้ำตาลที่ผสมอยู่ในแต่ละขวดสูงเกินมาตรฐานไปแค่ไหน
ทุกคนอาจแอบเถียงว่า ตอนดื่มเข้าไปแล้วรู้สึกสดชื่นขึ้นทันที หรือร่างกายดีขึ้นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ให้รู้ไว้เถอะว่า ร่างกายก็ต้องทำงานหนักมากเพื่อรับมือกับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มสูงอย่างผิดปกติหลังจากดื่มเข้าไปแล้ว
ขออธิบายง่ายๆ อีกรอบ และขอย้ำแรงๆ ว่า เครื่องดื่มหวานๆ พวกนี้ ไม่สามารถให้ประโยชน์ได้เทียบเท่าอาหารจริงๆ แน่นอน มันไม่มีไฟเบอร์ ไม่มีโปรตีน ไม่มีอะไรเลยนอกจากน้ำตาลที่ทำอันตรายกับร่างกายและอ้วน
แล้วอะไรมีประโยชน์ละ?...น้ำเปล่า กับน้ำชา (ชงเอง) ไง ที่สุดแล้ว
ตัวอย่างที่ดี ควรมีสารอาหารดังนี้
เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 1 ขวด ให้...
0 calories (แคลอรี่)
0 g - fat (ไขมัน)
0 g - sugars (น้ำตาล)
ถ้าคิดว่าชาเขียวชงกับน้ำร้อนที่บ้าน มีประโยชน์ไม่เท่าแบบแพคใส่ขวดขายในซูเปอร์ละก็...คุณคิดผิด! แถมแบบชงเองทั้งถูกและดีต่อสุขภาพมากกว่าอีกด้วย เพราะเราสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลเองได้
ตัวอย่างที่ไม่ดี
เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 1 ขวด ให้...
150 calories (แคลอรี่)
0 g - fat (ไขมัน)
30 g - sugars (น้ำตาล)
กฎใหม่สำหรับการเลือกซื้อเครื่องดื่ม: อ่านฉลากส่วนผสมก่อนจะอ่านพวกคำโฆษณาบนหน้าขวด ถ้ำทำแบบนี้ก่อน รับรองเลยว่าจะเจอหลายยี่ห้อเลยที่จริงๆ แล้วก็แค่น้ำเปล่าผสมน้ำตาล แล้วที่อ้างๆ ว่ามีแอนตี้ออกซิเดนท์บ้าง ให้ไฟเบอร์บ้าง หรือโน่นนี่ จริงๆ แล้วก็แค่หลอกลวง
อ่านบทความนี้แล้ว ก่อนซื้ออาหารคราวต่อไป อย่าลืมดูฉลากสารอาหารด้านหลังด้วยนะ เอาคร่าวๆ ก็พอ ว่าน้ำตาลสูงไหม มีไขมันที่เป็นอันตรายไหม ถ้าน้ำตาลสูงมากก็อย่าไปกินเลย กินผลไม้มีประโยชน์กว่า อย่าลืมเทียบกับตัวอย่างที่ดีกับไม่ดี
ที่มา : http://www.dek-d.com/lifestyle/24281/